ในโลกยุคดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อมูลที่บิดเบือนยังคงเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นทำมาตลอดปี 2024 โดยบทความนี้ เราได้รวบรวมประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ทีม Fact Crescendo Thailand ได้ตรวจสอบในปี 2024 ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ กลโกงออนไลน์ และข่าวต่างประเทศที่เป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย
หมวดสุขภาพ
ในปี 2024 ทีม Fact Crescendo Thailand ได้ตรวจสอบข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพหลายประเด็น ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดและอาจส่งผลต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพของประชาชน หนึ่งในหัวข้อสำคัญในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่อย่าง JN.1 โดยเราได้เผยแพร่บทความที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรง อาการ และวิธีป้องกัน เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจและเตรียมตัวรับมือโรคระบาดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบข้อกล่าวอ้างที่เชื่อมโยงวัคซีน mRNA กับ การเกิดลิ่มเลือดสีขาว ซึ่งข้อเท็จจริงชี้ว่าไม่มีหลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงดังกล่าว
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือความเชื่อด้านสุขภาพที่มีการแชร์ต่ออย่างแพร่หลายบนโซเชียล เช่น การอ้างว่า การถือของหนักหรือสะพายกระเป๋าหนัก อาจนำไปสู่การเป็นโรคกระดูกสันหลังคด และข้อกล่าวอ้างที่ว่า การสระผมก่อนอาบน้ำอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก หรือข้อความที่อ้างว่า การรับประทานเมล็ดมะละกอสามารถรักษามะเร็งได้ ล้วนเป็นข้อมูลที่ขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน
ในด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ยังมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถป้องกันรังสี EMF ได้ ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพจริง เช่นเดียวกับข่าวลือเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนโควิด-19 กับ การระบาดของโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกรณีข่าวที่อ้างว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่เพื่อควบคุมฝีดาษลิง ซึ่งแท้จริงแล้ว WHO ไม่ได้ออกคำแนะนำดังกล่าวแต่อย่างใด
ในส่วนของพฤติกรรมการกิน เราพบข้อความที่กล่าวว่า การรับประทานแซนด์วิชเบคอนเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 4 มวน และข้อความที่ระบุว่า ฮอร์โมนการเจริญเติบโตจะหลั่งเฉพาะเวลา 22.00 น. ถึง 02.00 น. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนผ่านการตรวจสอบและพบว่าเป็นความเข้าใจผิด
สุดท้ายคือข่าวปลอมเกี่ยวกับยารักษาโรคและข่าวเกี่ยวกับโรคมะเร็งในประเทศไทย เช่น ข่าวที่อ้างว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในเอเชีย หรือข้อมูลที่ระบุว่า มีการเรียกคืนยาแก้หวัดที่มีตัวยา PPA ในไทย ทั้งหมดนี้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านสุขภาพและการใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อตัดสินใจดูแลสุขภาพ
หมวดกลโกงออนไลน์ (Scam)
ในปีที่ผ่านมา เราได้พบกลโกงออนไลน์ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นกลโกงทาง SMS, อีเมล หรือการแอบอ้างชื่อแบรนด์ต่างๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก หนึ่งในกรณีที่ถูกตรวจสอบคือ การแอบอ้างแบรนด์เครื่องสำอางปลอมเพื่อเรียกร้องปัญหาสินค้าและเสนอคืนเงิน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการหลอกลวงเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหาย
ในอีกกรณีหนึ่ง มีการส่ง SMS ปลอมโดยอ้างว่าเป็น การแจ้งเตือนพัสดุที่ส่งไม่สำเร็จ ซึ่งหากผู้รับข้อความหลงเชื่อและคลิกลิงก์ในข้อความ อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวและการเงินถูกขโมยไป อีกทั้งยังมีข้อกล่าวอ้างเท็จแพร่กระจาย โดยอ้างว่า ที่ชาร์จแบตไร้สายจากธนาคาร SCB สามารถดูดเงินได้ ซึ่งได้เมื่อตรวจสอบก็พบว่าเป็นข่าวปลอม นอกจากนี้ยังมี SMS ปลอมที่แจ้งเตือน การล็อกอินเข้าสู่ระบบธนาคารจากอุปกรณ์ที่ไม่รู้จัก เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายคลิกลิงก์และกรอกข้อมูลสำคัญ
นอกเหนือจาก SMS ยังพบว่ามีกลโกงทางอีเมล เช่น อีเมลอ้างว่าเป็น Netflix ขอให้ผู้ใช้อัปเดตรายละเอียดการชำระเงิน ซึ่งเป็นอีเมลปลอมที่พยายามดึงข้อมูลการเงินของผู้ใช้งาน เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่มิจฉาชีพปรับตัวและหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการหลอกลวงผู้คน และยังเป็นการเตือนให้ผู้ใช้งานทุกคนมีความรอบคอบในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและทรัพย์สินทางการเงินของตนเอง
หมวดต่างประเทศ และข่าวไวรัลโซเชียลมีเดีย
ในปี 2024 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในต่างประเทศและโซเชียลมีเดียได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเด็นที่แพร่กระจายรวดเร็วผ่านอินเทอร์เน็ต ทีม Fact Crescendo ได้ตรวจสอบข่าวลือและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหลายเรื่อง เช่น การอ้างว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในดูไบ เกิดจากการทำฝนเทียม รวมถึงข้อกล่าวอ้างที่กล่าวว่าหมีแพนด้า หลินฮุ่ย เสียชีวิตจาก PM2.5 และข้อกล่าวอ้างว่าโลกร้อนทำให้หมึกยักษ์ในวิดีโอไวรัลโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ
อีกกรณีที่ได้รับความสนใจคือคลิปเหตุการณ์น้ำท่วมในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคลิปเก่า ที่ถูกนำมาแชร์ใหม่ รวมถึงภาพที่อ้างว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ของประธานาธิบดีอิหร่านที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริง นอกจากนี้ยังมีคลิปที่อ้างว่า จีนส่งอาหารให้กับชาวปาเลสไตน์ทางอากาศ ซึ่งแท้จริงแล้วคลิปนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด และคลิปไวรัลที่กล่าวว่าพื้นที่บริเวณ Temple Mount เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด
ข่าวลือเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น การเสียชีวิตของซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ที่ไม่เป็นความจริง และวิดีโอไวรัลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเลียม เพย์น ซึ่งคลิปดังกล่าวก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนักร้องผู้ล่วงลับ รวมถึงข้อกล่าวอ้างว่าสีจิ้นผิงมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก หรือ โดนัลด์ ทรัมป์ถูกยิงที่หน้าอก ที่มีการแชร์จนเป็นไวรัล เป็นอีกตัวอย่างของการบิดเบือนข้อมูลในโลกออนไลน์
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือภาพที่กล่าวว่าเป็น หิมะครั้งแรกในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงข้อมูลที่อ้างว่าสุนัขไลก้า เป็นสุนัขตัวแรกที่ขึ้นไปยังอวกาศ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ไลก้าเป็นสุนัขตัวแรกที่โคจรรอบโลก แต่ไม่ใช่ตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ และนอกจากนี้ในช่วงปลายปีก็ยังมีข่าวลือเกี่ยวกับการปรากฏตัวของคิลเลียน เมอร์ฟี ในตัวอย่างหนัง 28 Years Later ในบทซอมบี้ที่ซูบผอม
ในปี 2025 Fact Crescendo จะยังคงมุ่งมั่นในการตรวจสอบข่าวปลอมและข้อมูลเท็จอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะพัฒนากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้สังคมมีข้อมูลที่ถูกต้องและให้ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของข้อมูลดิจิทัล ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามและสนับสนุนการทำงานของเราเสมอมา
หากพบข้อมูลที่สงสัยว่าเป็นข่าวปลอม หรือต้องการให้เราช่วยตรวจสอบ สามารถส่งมาได้ที่ LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเราได้เลย!

Title:Fact Crescendo Thailand 2024 Recap: รวบรวมบทความตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจตลอดปี 2024
Fact Check By: Cielito WangResult: Insight