ในปีที่ผ่านมา เราพบเห็นภาพไวรัลจาก AI เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าปี 2023 เป็นปีที่ AI เข้ามามีบทบาทในโลกออนไลน์อย่างเต็มตัว และเส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงและข้อมูลเท็จก็เลือนรางมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเหล่ารูปภาพที่สร้างโดย AI ซึ่งมักถูกนำไปเติมแต่งเรื่องราวจนเกิดการเข้าใจผิด ในปีนี้เราพบรูปภาพที่สวยงาม รวมถึงภาพถ่ายที่สร้างกระแสไวรัลในสังคมออนไลน์ที่มาจากฝีมือ AI มากมาย และในบทความนี้ เราได้รวบรวมบทความตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื้อหา AI ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปีนี้มาไว้ที่นี่แล้ว

และหากพบข่าวหรือภาพที่น่าสงสัย สามารถส่งให้เราช่วยตรวจสอบผ่านทาง LINE ได้ที่นี่ หรือที่ LINE ID: @factcresdendoth

อันดับที่ 1: ต้น “April Snow” ที่สวยงามจนเป็นไวรัล

มีผู้ใช้บนโซเชียลได้แชร์รูปภาพต้นไม้ที่สวยงามและแปลกตาต้นหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นต้น Losu หรือต้น April Snow ซึ่งเป็นต้นไม้หายากจากประเทศจีน โดยเมื่อเราดำเนินการตรวจสอบก็พบว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าต้นไม้ในภาพนั้นเป็นภาพที่สร้างโดยใช้ AI และต้น April Snow ที่แท้จริงนั้นคือต้น Tassel และมีลักษณะแตกต่างจากภาพไวรัลดังกล่าว

อ่านบทความ: ต้น “April Snow” ที่เป็นไวรัล: มีอยู่จริงหรือแค่ผลงานอีกชิ้นของ AI?

อันดับที่ 2: ปูตินบวชเป็นพระสงฆ์?

มีรูปภาพของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียแต่งกายแบบพระภิกษุ พร้อมข้อกล่าวอ้างว่าปูตินเคยบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 แพร่กระจายบนโลกโซเชียล อันที่จริงแล้วเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยการป้อนข้อมูลของผู้ใช้ลงในแพลตฟอร์ม Midjourney ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม AI สำหรับสร้างรูปภาพ และข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าปูตินเคยบวชที่ทิเบตเป็นเวลา 9 เดือน ก็ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

อ่านบทความ: ภาพปูตินแต่งกายเป็นพระสงฆ์ แท้จริงแล้วสร้างจาก AI

อันดับที่ 3: ภาพดอกกล้วยไม้เป็ดบิน

มีภาพดอกไม้ที่มีลักษณะคล้ายกับเป็ดแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าเป็นภาพของ “ดอกกล้วยไม้เป็ดบิน” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด The Flying Duck Orchid (Caleana major) เป็นกล้วยไม้สายพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม ภาพที่มีการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียดังกล่าวนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI

อ่านบทความ: ดอกกล้วยไม้เป็ดบิน มีอยู่จริงหรือไม่?

อันดับที่ 4: รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่

ภาพไวรัลพร้อมข้อกล่าวอ้างว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ของ Mitsubishi ซึ่งแท้จริงเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI

อ่านบทความ: รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่เป็นไวรัล แท้จริงแล้วเป็นภาพจาก AI

อันดับที่ 5: ปูตินคุกเข่าให้สี จิ้นผิง?

มีรูปภาพที่อ้างว่าเป็นภาพของปูตินกำลังคุกเข่าต่อสี จิ้นผิง ขณะที่ไปเยือนรัสเซีย จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีความเป็นไปได้สูงที่ภาพดังกล่าวจะสร้างขึ้นโดยใช้ AI เนื่องจากมีหลายองค์ประกอบในภาพที่ไม่เป็นธรรมชาติและไม่สอดคล้องกับภาพถ่ายและวิดีโอจริงจากแหล่งที่มาที่ตรวจสอบได้

อ่านบทความ: ภาพปลอม: ปูตินไม่ได้คุกเข่าให้สี จิ้นผิง

อันดับที่ 6: ภาพแมวสายพันธุ์หายาก

มีภาพแมวที่มีสีสันและลวดลายที่ดูแปลกตาแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย โดยมีการแชร์อย่างกว้างขวางและอ้างว่าเป็นแมวสปีชีส์ “Felis Salamandra” ซึ่งสายพันธุ์ที่หายากและที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก โดยแท้จริงแล้วรูปภาพดังกล่าวสร้างโดย AI และแมวสปีชีส์ดังกล่าวก็ไม่มีอยู่จริง

อ่านบทความ: ภาพแมวสายพันธุ์หายาก แท้จริงแล้วเป็นผลงานของ AI

อันดับที่ 7: ชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’

ภาพถ่ายไวรัลที่อ้างว่าเป็นเศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน US Coast Guards Department ยืนยันว่าแม้ว่าจะพบเศษซากของเรือไททันแล้ว แต่ทางหน่วยงานฯ ยังไม่ได้เผยแพร่ภาพหรือวิดีโอดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะแต่อย่างใด และภาพไวรัลส่วนหนึ่งมาจากภาพซากจากเรือไททานิคที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2004 ส่วนภาพชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ใต้ทะเลข้างต้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI

อ่านบทความ: ภาพเก่าและภาพจาก AI ถูกนำมาแชร์ว่าเป็นภาพชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’

อันดับที่ 8: ทอม ครูซ กับสตันท์แมนของเขา

ภาพ “ทอม ครูซ” และทีมสตันท์ที่มีใบหน้าเหมือนทอม ครูซ ที่เป็นไวรัลนั้น เป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI นอกจากนี้ ทอม ครูซ ยังได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาเล่นฉากแอ็กชัน รวมถึงฉากโลดโผนต่างๆ เอง โดยไม่ใช้ตัวแสดงแทน

อ่านบทความ: ทอม ครูซกับสตันท์แมน: ภาพจริงหรือตัดต่อ?

อันดับที่ 9: ธงชาติปาเลสไตน์ขนาดยักษ์ ในสนามฟุตบอลของทีมแอตเลติโก มาดริด

ภาพแฟนๆ ทีมฟุตบอล แอตเลติโก มาดริด ร่วมชูธงชาติปาเลสไตน์ขนาดใหญ่ในสนามฟุตบอลของทีม ซึ่งเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI นอกจากการตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบรูปภาพ AI ซึ่งผลลัพธ์ออกมาว่าภาพดังกล่าวมีแนวโน้มจะสร้างโดย AI แล้ว ผู้ใช้บัญชี Twitter (X) “Atletico Universe” ยังยืนยันว่าตนเป็นคนสร้างภาพดังกล่าวขึ้นโดยใช้โปรแกรม Bing Image Creator

อ่านบทความ: ภาพฝูงชนชูธงปาเลสไตน์ในสนามฟุตบอลของทีมแอตเลติโก มาดริด เป็นภาพจาก AI

อันดับที่ 10: วิดีโอ Bella Hadid กล่าวสนับสนุนอิสราเอล

มีวิดีโอที่กล้าวอ้างว่าเป็น Bella Hadid นางแบบระดับโลกเชื้อสายปาเลสไตน์-ดัตช์ ออกมากล่าวสนับสนุนชาวอิสราเอล รวมถึงรูปภาพที่เธอสวมใส่เดรสที่มีลายธงชาติอิสราเอล ซึ่งเป็นวิดีโอที่ตัดต่อโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake และภาพที่เธอสวมชุดลายธงชาติอิสราเอลก็เป็นภาพตัดต่อเช่นเดียวกัน

อ่านบทความ: วิดีโอและภาพของ Bella Hadid ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลเป็นภาพตัดต่อ

และในปี 2024 ที่กำลังจะถึง Fact Crescendo ก็จะมุ่งมั่นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหักล้างข่าวปลอมต่อไป เพื่อให้ผู้อ่านรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสารบนโลกโซเชียลอยู่เสมอ

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:10 อันดับเนื้อหา AI ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปี 2023

Written By: Cielito Wang

Result: False