หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บำบัดแล้วลงในทะเลที่จังหวัดฟุกุชิมะ ท่ามกลางความกังวลของหลายๆ ฝ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ก็มีข้อกล่าวอ้างต่างๆ เกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียบำบัดครั้งนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: วิดีโอเก่าถูกนำมาแอบอ้างว่ามาจากเหตุการณ์ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะ

ล่าสุด เราพบรูปภาพที่กำลังแพร่กระจายอย่างกว้างขวางบนโซเชียล พร้อมข้อกล่าวอ้างว่ามาจากการปล่อยน้ำเสียครั้งนี้

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ใช้ Twitter (X) ได้โพสต์ภาพกล่องซูชิที่มีเนื้อกุ้งเรืองแสง พร้อมคำบรรยายภาพว่า “Sushi Fukushima”

ที่มา | ลิงก์ถาวร

นอกจากนี้เรายังพบรูปภาพดังกล่าวพร้อมข้อกล่าวอ้างเดียวกันแพร่กระจายบน Facebook อีกด้วย โดยล่าสุดมีการแชร์ต่อกว่า 800 ครั้ง และมีการกดถูกใจถึง 11,000 ครั้ง

ที่มา | ลิงก์ถาวร

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว เราพบว่าภาพซูชิดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยน้ำเสียในฟุกุชิมะเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทีมงานได้ทำการค้นหาที่มาของรูปภาพไวรัลดังกล่าวโดยการใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search และพบว่าภาพดังกล่าวโพสต์โดยผู้ใช้ Twitter ตั้งแต่ปี 2020

ลิงก์ถาวร

และภาพซูชิเรืองแสงดังกล่าวก็เคยเป็นไวรัลตั้งแต่ในปีดังกล่าว และมีการรายงานโดยสำนักข่าวต่างๆ เช่น ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่

โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์อธิบายถึงสาเหตุที่เนื้อกุ้งในภาพเรืองแสง ว่าอาจจะมาจากเชื้อแบคทีเรียในทะเล หรืออาจมีการเติมสารเคมีที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรืองแสง ทั้งนี้ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

ลิงก์ถาวร

นอกจากนี้ เพจ "ชีวเคมี คณะวิทย์ จุฬาฯ Biochemistry Sci Chula" ได้ออกมาโพสต์ข้อความ อธิบายสาเหตุของการเกิดเหตุเรืองแสงในซูชิหน้ากุ้ง ซึ่งระบุว่า อาจจะเกิดจากการปนเปื้อนแบคทีเรียเรืองแสง แบคทีเรียเหล่านี้มีหลายชนิดเช่น Vibrio harveyi และ Photobacterium phosphoreum เป็นต้น ซึ่งพบได้ทั่วไปในน้ำทะเลและสัตว์ทะเล บางชนิดอาจก่อโรคในคนได้ ถ้าทำอาหารทะเลให้สุก สะอาด ไม่ใช้เขียงอาหารดิบปนอาหารสุก ก็จะปลอดภัย นอกจากจะพบแบคทีเรียเรืองแสงในน้ำทะเลได้แล้วยังมีแพลงตอนที่เรืองแสงได้อีกด้วยแต่ใช้กระบวนการทางเคมีแตกต่างออกไป (ที่มา | ลิงก์ถาวร)

ลิงก์ถาวร

ขอขอบคุณภาพจาก: MGR Online

สรุป

รูปภาพซูชิเรืองแสงพร้อมข้อกล่าวอ้างว่ามาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะ แท้จริงแล้วเป็นภาพไวรัลตั้งแต่เมื่อปี 2020 โดยคาดการณ์ว่าสาเหตุที่ซูชิสามารถเรืองแสงได้นั้นมาจากแบคทีเรียเรืองแสงที่อยู่ในเนื้อสัตว์ทะเล และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล่อยน้ำเสียในฟุกุชิมะเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:ภาพซูชิเรืองแสงถูกนำกลับมาแชร์ใหม่หลังเหตุการณ์ปล่อยน้ำเสียในฟุกุชิมะ

Written By: Cielito Wang

Result: Misleading