
ค่าฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่รอคอยการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบภาคเหนือ โดยล่าสุดในวันนี้ (19 เมษายน) จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่อันดับที่ 3 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก จากฐานข้อมูลของ IQAir
และแม้สภาพอากาศในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยจะเป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจ อย่างไรก็ตาม เราพบข้อกล่าวอ้างที่อาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้คน ที่ระบุว่า หลินฮุ่ย หมีแพนด้าอดีตดาวเด่นประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ เสียชีวิตลงเนื่องจากภาวะ PM2.5
ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย
เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม X (Twitter) ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าแต่มีใครจำได้มั่งว่าหลินฮุ่ยตายเพราะฝุ่น pm 2.5 เชียงใหม่” โดยล่าสุดโพสต์ดังกล่าวมีการรับชมไปกว่า 3.2 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม สวนสัตว์เชียงใหม่ได้ยืนยันว่า สาเหตุการเสียชีวิตของหลินฮุ่ย ไม่ได้มาจากภาวะ PM 2.5 แต่อย่างใด
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
นายสัตวแพทย์ เทวราช เวชมนัส รักษาการหัวหน้าสุขภาพสัตว์และปฏิบัติหน้าที่นายสัตวแพทย์ประจำโครงการวิจัย และจัดแสดงหมีแพนด้า กล่าวว่า “หลินฮุ่ย” เป็นแพนด้าที่เข้าสู่วัยชราแล้ว ก่อนตายนั้นสุขภาพของหลินฮุ่ยปกติทุกอย่าง และได้มีการตรวจสุขภาพของหลินฮุ่ยทุกเช้า-เย็น ส่วนที่เห็นว่าหลินฮุ่ยเลือดไหลนั้น มาจากอาการเส้นเลือดเปราะที่แตกทำให้เลือดไหลง่าย ส่วนกรณีที่มีหลายคนสงสัยว่า สาเหตุที่หลินฮุ่นเลือดกำเดาไหลนั้นน่าจะมาจาก PM 2.5 และอากาศร้อนนั้น ทางสวนสัตว์ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากแพนด้าหลินฮุ่ยอยู่ในห้องระบบปิด และมีการเปิดเครื่องฟอกอากาศตลอดเวลา รวมถึงมีการปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม คล้ายกับถิ่นกำเนิดของหลินฮุ่ย อุณหภูมิและสภาพอากาศภายนอกจึงไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)
ในเวลาต่อมา สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ คำอธิบายจากคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนและฝ่ายไทย เรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของหมีแพนด้าหลินฮุ่ย โดยผลการชันสูตรพบว่า หลินฮุ่ยอยู่ในวัยชรา ทำให้หลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพและเกิดการแข็งตัว นำไปสู่การอุดตันของหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ และเป็นผลทำให้เสียชีวิต สำหรับกรณีที่มีเลือดกำเดาไหลนั้น มีสาเหตุจากการเกิดเนื้องอกในหลอดเลือดโพรงจมูก หลังจากที่คณะผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนได้ประเมินการปฏิบัติงานด้านต่างๆ โดยละเอียด พบว่าสถานที่เลี้ยง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ทีมพี่เลี้ยง ทีมสัตวแพทย์ มีการจัดการด้านโภชนาการอาหารและสุขอนามัยต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานเงื่อนไขของการบริหารจัดการเลี้ยงหมีแพนด้าและการควบคุมโรค (ที่มา: The Standard)
นอกจากนี้ จากข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) อายุขัยของหมีแพนด้านั้นอยู่ที่ประมาณ 14-20 ปี ในขณะที่หลินฮุ่ยมีอายุถึง 22 ปี ซึ่งถือว่ามีอายุขัยที่ยาวนานและมากกว่าค่าเฉลี่ยอีกด้วย (ที่มา: WWF)
สรุป
แม้ว่าการตระหนักและให้ความสำคัญถึงผลเสียจาก PM2.5 จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตของหลินฮุ่ยนั้นมาจาก PM2.5 นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผลการชันสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งไทยและจีนระบุว่า หลินฮุ่ยเสียชีวิตเนื่องจากวัยชรา และจากการตรวจสอบสถานที่เลี้ยง อุปกรณ์ และทีมผู้ดูแล ก็พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง
Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok | WhatsApp

Title:ข้อความว่า ‘หลินฮุ่ย’ เสียชีวิตจาก PM2.5 ไม่เป็นความจริง
Fact Check By: Cielito WangResult: False