จากที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการแถลงการลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีหนึ่งในวาระร่วมคือ “การนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด” ซึ่งก่อให้เกิดเสียงตอบรับในหลากหลายทิศทาง ซึ่งแม้หลายฝ่ายเห็นควรว่าถูกต้อง แต่ก็มีหลายภาคส่วนที่แสดงความกังวลว่าอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจกัญชาไปแล้ว (อ่านข่าวได้ที่นี่)

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงกรณีที่พิธาได้เคยไปเดินรณรงค์ปลดแอกกัญชา และการประกาศว่าจะผลักดันกัญชาขณะหาเสียงในฐานะสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 โดยมีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าพิธาเปลี่ยนจุดยืนหรือไม่

โดยนายเดชา ศิริภัทร ได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของพิธาเคยออกมาเดินรณรงค์ปลดแอกกัญชากับตนเมื่อปี 62

Archive

นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้โซเชียลหลายรายที่โพสต์ว่าพิธาเปลี่ยนจุดยืนจากเมื่อปี 2562 ที่เคยสนับสนุนกัญชาเสรี

Source | Archive

Source | Archive

พิธาเคยเดินรณรงค์ปลดแอกกัญชาจริง แต่เป็นการรณรงค์เพื่อ “ใช้ในทางการแพทย์”

กิจกรรมรณรงค์ที่กล่าวว่าพิธาเข้าร่วมในข้างต้น เป็นกิจกรรม “ร่วมเดินเพื่อผู้ป่วย Cannabis Walk Thailand” ที่นำโดยนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ว่า การใช้กัญชาเพื่อเยียวยารักษาการป่วยไข้เป็นสิทธิและศีลธรรมขั้นพื้นฐาน และจุดมุ่งหมายหลักมี 3 ข้อ คือ

  1. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเกี่ยวกับกัญชาเป็นยารักษาโรค
  2. รณรงค์แก้ไขกฎหมายที่ยังล้าหลังอยู่มาก
  3. ระดมทุนทำยาในภาคประชาชนกันเอง ไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภาษีของใคร หากทำได้ไม่เต็มที่ จะนำทุนก้อนนั้นมารณรงค์แก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง จากนั้นทำยาให้ได้มากที่สุด

(ที่มา)

จุดยืนของพิธาต่อการปลดล็อกกัญชาในปี 2562

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 พิธาเคยโพสต์ในกรณีการผลักดันการใช้กัญชา โดยสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

  • ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศศูนย์กลางเกี่ยวกับกัญชาชั้นนำของโลก ทั้งในด้านการแพทย์ (Medical hub) และการท่องเที่ยว (Tourism hub)
  • การใช้ "กัญชาเพื่อการแพทย์และอาชีพ" จำเป็นต้องทำให้เกิด เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงกัญชาให้กับผู้ป่วย และกระจายโอกาสให้กับเกษตรกร
  • กัญชามีศักยภาพในแง่ทางการแพทย์
  • มองว่ากัญชาต้องเป็นพืชชนิดแรกที่ไม่ถูกผูกขาดเฉพาะวิสาหกิจ
  • สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การส่งเสริมการวิจัย" กัญชาในหลายๆ เรื่อง
  • ในอนาคต ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเกี่ยวกับกัญชา โดยรัฐอาจจะมีการจัด "พื้นที่พิเศษ” (Sandbox) เพื่อทดลองใช้กฎเกณฑ์ใหม่ ยกเว้นให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการได้ นอกจากนี้ยังระบุว่า การจะริเริ่มกัญชาเพื่อสันทนาการให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย จำเป็นต้องการศึกษาอย่างรอบด้าน ถ้าจะเกิดขึ้นต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเข้าถึง
  • ส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้ถูกนำมาปรับใช้กับกัญชาด้วย เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้า ลดการลักลอบปลูก และตลาดใต้ดิน

สามารถอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในโพสต์ด้านล่างนี้

จุดยืนก่อนเลือกตั้งปี 2566

ในช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2566 พิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ตอบประเด็นการเปลี่ยนจุดยืนเรื่องกัญชาในรายการ “เริ่มใหม่ไทยแลนด์” ทางไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ไว้ดังนี้

  1. “จุดยืนเรื่องกัญชาของผมไม่เคยเปลี่ยน จุดยืนของผมคือกัญชาเพื่อการแพทย์ ส่วนกัญชาเพื่อสันทนาการก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีการควบคุมโซน ควบคุมการบริหารจัดการ ควบคุมการพกพา เช่น ที่บอสตันห้ามพกกัญชาออกนอกบ้านเกิน 1 ออนซ์ เป็นต้น
  2. สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่จุดยืนของผม แต่คือบริบทของกัญชา ที่ผมพูดไว้ตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ตอนนั้นกัญชายังติดล็อกเป็นศูนย์ แทบจะเอามาใช้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ปลดล็อกเป็นกัญชาเสรี และเสรีแบบสุดโต่ง
  3. ผมเชื่อว่าอะไรที่เสรีมันไม่มีจริง ไม่ว่าจะสุราเสรีหรือกัญชาเสรี มันต้องมีการควบคุมทั้งนั้น และทุกอย่างต้องค่อย ๆ ทำ เช่น แคนาดาใช้เวลาถึง 8 ปี ในการเพิ่มกฎหมายจากกัญชาการแพทย์มาเป็นกัญชาเพื่อสันทนาการ
  4. แต่ประเทศไทยภายในเวลา 1 ปี กัญชาเปลี่ยนจากศูนย์เป็นเกินร้อย จากปิดสนิทเป็นเปิดจนไร้การควบคุม มีร้านกัญชาหมื่นกว่าร้านทั่วประเทศ จากบ้านผมไปโรงเรียนลูกมี 20 กว่าร้าน ซึ่งมันเกินเลยจุดยืนของผมไปมาก ผมยังยืนอยู่จุดเดิม แต่เมื่อกัญชาเลยป้ายผมไป ผมก็ต้องดึงมันกลับมา
  5. เมื่อกัญชาเสรีโดยไม่มี พ.ร.บ.ควบคุมการใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ทำให้กัญชาตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย ทั้งตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมไม่มีอำนาจเหลือ เราจึงได้เห็นภาพว่าคนที่จับกัญชาได้มีแต่กรมแพทย์แผนไทยเท่านั้น
  6. ส่วนคนที่ลงทุนไปแล้วก็แก้ปัญหาได้ด้วยการขายให้โรงพยาบาลรัฐที่ใช้กัญชาการแพทย์ ใครที่ขออนุญาตอย่างถูกกฎหมายก็สามารถทำธุรกิจต่อไปได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุม
  7. ดังนั้น ขอสรุปอีกครั้งว่าจุดยืนของผมไม่เคยเปลี่ยน ตอนนั้นกัญชาอยู่ที่จุด 0 ผมก็ยืนยันว่าจุดยืนของผมในการใช้กัญชาอยู่ที่ 60-70 แต่ตอนนี้กัญชาเลยป้ายไป 100 กว่า ผมก็ต้องดึงกลับมาที่จุดยืนของผมและจุดยืนของพรรค”

(ที่มา)

จุดยืนของพิธาหลังชนะการเลือกตั้ง

หลังจากมีการประกาศวาระ “การในกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด” ซึ่งก่อให้เกิดเสียงตอบรับในหลากหลายทิศทาง ในวันที่ 30 พฤษภาคม พิธาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

"ในเรื่องของกัญชาก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในของยาเสพติดได้ แต่วันนี้ต้องพูดกันให้ชัดว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้น จากศูนย์ไปถึงร้อย จากศูนย์คือเป็นยาเสพติดร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย จนกระทั่งไปถึงร้อย ที่เป็นเสรีสุดโต่งแบบสุญญากาศ สามารถเปิดได้เยอะมากมายมหาศาล โดยที่ไม่มีการควบคุม ไม่มีสภาพบังคับ ตรงนี้เดี๋ยวเราต้องมาหาจุดสมดุลตรงกัน

ผมคิดว่า 8 พรรคที่ยืนอยู่ตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเห็นว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ทำได้ ถึงแม้ว่าเป็นยาเสพติด ก็ยังสามารถที่จะทำได้อยู่ ในเรื่องของสถานการณ์ก็ต้องมีการควบคุม โซนนิ่ง หรือมีโค้ดของการพกในสาธารณะ

แต่ก็ยังต้องขอยืนยันนะครับว่าถ้าเป็นพี่น้องที่อยู่ในแวดวงกัญชาที่เปิดร้านไปแล้ว ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ก็น่าจะมีวิธีการในการที่จะให้คณะกรรมการได้พูดคุยว่าสามารถที่จะปกป้อง หรือว่าสามารถที่จะนิรโทษกรรมได้ยังไง ในการที่เรานำกลับไปอยู่ในยาเสพติด

ต้องยืนยันในการใช้กัญชาในหลายๆ ประเทศ ก็ยังอยู่ในยาเสพติด ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแพทย์หรือการใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ได้ในหลายประเทศเช่นเดียวกันนะครับ ไม่ใช่หมายความว่าพอกลับไปเป็นยาเสพติดแล้วจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลย อันนี้ไม่เป็นความจริง”

และล่าสุดในวันที่ 2 มิถุนายน พิธาได้ตอบเรื่องจุดยืนเกี่ยวกับกัญชาอีกครั้งในรายการ “กรรมการข่าว คุยนอกจอ” โดยได้กล่าวว่า

“ผมยืนยันว่าไม่ได้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ยังยืนอยู่ที่เดิม แต่สถานการณ์หลังจากปลดล็อกมา ไม่มี พ.ร.บ.ควบคุม จึงทำให้กัญชาเลยป้ายไปเยอะ อย่างในบอสตัน สหรัฐอเมริกา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับกัญชาชัดเจน ว่า ห้ามพกเกิน 2 ออนซ์ ต้องทำในเคหสถานเท่านั้น มีโซนนิ่งควบคุม ส่วนประเทศแคนาดา ใช้เวลา 8-9 ปี ที่เปลี่ยนจากกัญชาทางการแพทย์ มาเป็นแบบสันทนาการ เพราะต้องใช้เวลาให้ประชาชนได้เรียนรู้ อย่างผมอาจจะรู้ว่าลิมิตของผมอยู่ตรงไหน แต่เด็ก เยาวชน และสังคมยังไม่เรียนรู้ว่าจุดไหนที่ใช้กัญชาแล้วเป็นประโยชน์ จุดไหนที่ใช้กัญชาแล้วเป็นโทษ”

พิธา กล่าวต่อว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น คือจะต้องมีการออกกฎหมายเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดกติกา เช่น คนที่ปลูกกัญชาอยู่ สามารถปลูกได้กี่ต้น ส่วนผู้ที่เปิดร้านขายกัญชา จะต้องขออนุญาตเปิดอย่างถูกต้อง และต้องมีโซนนิ่งให้ชัดเจน ห้ามขายใกล้สถานศึกษา กำหนดเงื่อนไขว่าแต่ละคนสามารถซื้อได้เท่าไหร่ และสามารถพกกัญชาติดตัวได้ในปริมาณเท่าไหร่ หรืออาจจะทำเป็น Sandbox ให้กับบางจังหวัด หรือบางพื้นที่ ที่เขาทำประชามติเห็นร่วมกันว่าสามารถทำกัญชาเป็น Tourist Hub ในพื้นที่ของตนได้

“การที่เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้นนั้น มีประโยชน์กับคนที่ทำธุรกิจกัญชาตอนนี้ด้วย ถ้าทำถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าทำผิดกฎหมาย แอบลักลอบเข้ามา คนพวกนั้นเราต้องจัดการ”

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:จุดยืนของพิธาต่อการสนับสนุนกัญชาในอดีต ย้อนแย้งกับวาระใน MOU หรือไม่?

By: Cielito Wang

Result: Explainer