ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและโภชนาการถือเป็นข้อมูลที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ ทำให้ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมต่างๆ แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ล่าสุด เราพบข้อความที่อ้างว่าสารให้ความหวานธรรมชาติยอดนิยมอย่างหญ้าหวานนั้นมีสารก่อมะเร็ง

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้บัญชี X ได้โพสต์ข้อความที่ระบุว่า “หญ้าหวานเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ถูกปลดออกเพราะนายทุนบอกว่า กินอะไรก็เป็นมะเร็งได้ // แค่อยากบอก เลี่ยงได้เลี่ยง”

ที่มา | ลิงก์ถาวร

โดยล่าสุดโพสต์ดังกล่าวมีการรับชมไปกว่า 3 ล้านครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอ้างสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้อ่านได้ เราจึงตัดสินใจตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว

หญ้าหวานคืออะไร

หญ้าหวาน (Stevia) เป็นสารทดแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ที่ได้มาจากใบของต้นหญ้าหวาน ในใบของหญ้าชนิดนี้มีสารสำคัญที่ชื่อ สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200 เท่า แต่ไม่ให้พลังงานแต่อย่างใด จึงถูกนำมาใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มมานานหลายศตวรรษ

ในปี 1991 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้สั่งห้ามใช้หญ้าหวานเนื่องจากมีการศึกษาเบื้องต้นที่ชี้ว่ามีความเชื่อมโยงกับมะเร็ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นและมีงานวิจัยมากขึ้น การศึกษาเหล่านี้ถูกหักล้างในเวลาต่อมา และยกเลิกการแบนสารสกัดจากใบหญ้าหวาน ปัจจุบันสารสกัดจากใบหญ้าหวานถือว่า "เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย (Generally Recognized As Safe: GRAS)"

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ข้อมูลจาก American Cancer Society ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าหญ้าหวานทำให้เกิดมะเร็งเมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม การศึกษาบางชิ้นแนะนำว่าหญ้าหวานอาจมีประโยชน์ในการป้องกันหรือต่อสู้กับมะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างหญ้าหวานกับมะเร็ง

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Healthline ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าหญ้าหวานจะทำให้เกิดมะเร็งได้ เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยได้มีการอ้างอิงถึงงานวิจัยในปี 2002 ที่แสดงความเป็นพิษทางพันธุกรรมเล็กน้อยในสารสกัดจากหญ้าหวานในปริมาณที่สูง ซึ่งปริมาณที่ว่านี้เทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในกาแฟ 3,000 แก้ว ดังนั้นจึงยังถือว่าไม่มีนัยสำคัญและยังมีความปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณปกติ

Verywell Health ได้อ้างอิงการทบทวนงานวิจัย 372 ชิ้น ที่พบว่าการใช้หญ้าหวานในระยะสั้นไม่ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยระบุเพิ่มเติมว่า สมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกา (American Cancer Society) ได้พิจารณาว่าปริมาณหญ้าหวานและสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ที่มักใช้ในอาหารว่าปลอดภัย

ประโยชน์และผลข้างเคียงของหญ้าหวาน

บทความของ Verywell Health ได้อธิบายถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากหญ้าหวาน ซึ่งเป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติ โดยแม้ว่า FDA จะระบุว่าสารสกัดจากใบหญ้าหวานมีความปลอดภัย แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องอืด และความดันโลหิตต่ำ ได้ในบางบุคคล

แม้ว่าหญ้าหวานจะไม่ค่อยก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่การเติมน้ำตาลแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้ยังพบว่าหญ้าหวานช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจะส่งผลอันตรายต่อผู้ที่มีระดับความดันปกติ

ผลกระทบของหญ้าหวานต่อตับนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติม นอกจากนี้ การศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการลดความเสี่ยงของโรคไขมันพอกตับอีกด้วย และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็สามารถรับประทานสารสกัดจากใบหญ้าหวานได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน

สรุป

โดยทั่วไปแล้วหญ้าหวานสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง อย่างไรก็ตาม พวกยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า หญ้าหวานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่และอย่างไร และแม้ว่าหญ้าหวานจะปลอดภัยต่อการรับประทานโดยทั่วไป แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ

Avatar

Title:จริงหรือไม่: หญ้าหวานมีสารก่อมะเร็ง?

Written By: Cielito Wang

Result: Insight