วิดีโอไวรัลเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวที่เมียนมา แท้จริงแล้วที่สร้างด้วย AI

False International Social

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วิดีโอที่อ้างว่าแสดงถึงภาพเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยวิดีโอดังกล่าวแสดงภาพที่ถ่ายจากมุมสูง เผยให้เห็นเจดีย์สององค์ที่อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง รายล้อมด้วยอาคารที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนสองสาย โดยวิดีโอดังกล่าวได้รับความสนใจและถูกแชร์ออกไปพร้อมข้อความแสดงความเสียใจและความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นวงกว้าง

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้แชร์วิดีโอที่อ้างว่าแสดงให้เห็นความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมียนมาร์ คลิปวิดีโอพร้อมภาพจากวิดีโอนี้ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากการตรวจสอบ เราพบหลายประเด็นที่บ่งชี้ว่าวิดีโอดังกล่าวไม่ได้มาจากเหตุการณ์จริง ดังนี้

ความไม่สอดคล้องทางภูมิศาสตร์

วิดีโอมีภาพเจดีย์สององค์ที่มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมยุคพุกาม แต่เมืองที่ได้รับผลกระทบหลักจากแผ่นดินไหวอย่างสะกายและมัณฑะเลย์ ไม่มีเจดีย์ลักษณะนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองแบบที่ปรากฏในวิดีโอ ส่วนเมืองพุกามซึ่งมีชื่อเสียงด้านเจดีย์โบราณจำนวนมากนั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก นอกจากนี้ ฉากหลังในวิดีโอก็ไม่ตรงกับภูมิทัศน์ของพุกาม

วิดีโอเหตุการณ์เปรียบเทียบจาก INQUIRER.net ของเจดีย์ในมัณฑะเลย์หลังแผ่นดินไหว

ไม่มีการรายงานจากสื่อท้องถิ่น

จากการตรวจสอบ เราไม่พบวสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ในภาษาพม่าที่รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ใช้วิดีโอนี้ในการรายงานแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นอีกเบาะแสว่าต้องมีการตรวจสอบที่มาของวิดีโอนี้เพิ่มเติม

สัญญาณของการใช้ AI

การวิเคราะห์ภาพ: เราใช้เครื่องมือวิเคราะห์และตรวจจับภาพที่สร้างโดยใช้ AI ตรวจสอบคีย์เฟรมจากวิดีโอดังกล่าว และได้ผลลัพธ์ว่าวิดีโอนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกสร้างขึ้นด้วย AI

ที่มา: Was it AI?

ความยาวของวิดีโอ: วิดีโอยาวเพียง 6 วินาที ซึ่งเป็นความยาวที่สอดคล้องกับวิดีโอที่สร้างโดยแพลตฟอร์ม AI หลายแห่ง

ลายน้ำ (Watermark): เราพบวิดีโอเวอร์ชันที่ไม่ถูกครอบตัด (ดูได้จากแหล่งที่มา | ลิงก์ถาวร) ซึ่งมีลายน้ำคำว่า “Wan” ซึ่งเป็นเครื่องหมายของแพลตฟอร์ม Wan AI ที่รู้จักกันดีในฐานะเครื่องมือสร้างคอนเทนต์ด้วย AI ยิ่งเป็นการยืนยันว่าวิดีโอนี้มีแนวโน้มว่าไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์จริง

นอกจากนี้ Shayan Sardarizadeh นักข่าวจาก BBC ได้ระบุว่า วิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกโดยผู้ใช้ TikTok ชื่อ “lee.meedia7” ซึ่งภายหลังบัญชีนี้ได้ถูกลบไปแล้ว ซึ่งเป็นอีกเบาะแสที่ชวนให้สงสัยว่าบัญชีดังกล่าวอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพราะการลบบัญชีหลังจากปล่อยเนื้อหาบิดเบือนเป็นกลยุทธ์ที่พบได้บ่อยในช่วงวิกฤต

ความผิดปกติในวิดีโอ

ลักษณะของวัตถุในภาพที่เหมือนกันเกินไป: บุคคลสองคนที่ปรากฏในวิดีโอนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก และสวมใส่เสื้อสีเดียวกัน รวมถึงรถยนต์ที่เห็นก็มีสีและรูปแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งดูผิดปกติและไม่สมจริง

ความเสียหายที่ไม่สมจริง: แม้หลังคาของอาคารบางแห่งจะมีเศษซากปรักหักพัง แต่ตัวโครงสร้างกลับไม่มีร่องรอยของความเสียหายเลย ซึ่งขัดกับลักษณะความเสียหายตามปกติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว

องค์ประกอบที่หายไป: เมืองในเมียนมาโดยทั่วไปจะมีเสาไฟฟ้าและสายไฟให้เห็นในแทบทุกที่ แต่ในวิดีโอกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ปรากฏเลย

สรุป

จากการวิเคราะห์ วิดีโอไวรัลที่อ้างว่าแสดงภาพเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีองค์ประหอบหลายอย่างที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง ทั้งในด้านภูมิประเทศที่ไม่ตรงกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขาดการยืนยันจากสื่อท้องถิ่น รวมทั้งหลักฐานทางเทคนิคที่ชี้ว่าภาพดังกล่าวถูกสร้างด้วย AI ไม่ว่าจะเป็นลายน้ำจากแพลตฟอร์ม Wan AI หรือองค์ประกอบภาพที่ดูไม่สมจริง

และเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด มีแนวโน้มสูงว่าวิดีโอนี้เป็นวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI ไม่ใช่เหตุการณ์จริงหลังแผ่นดินไหวในมัณฑะเลย์หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

Avatar

Title:วิดีโอไวรัลเหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวที่เมียนมา แท้จริงแล้วที่สร้างด้วย AI

Fact Check By: Cielito Wang 

Result: False

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *