
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์คลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ แสดงภาพการปล่อยน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ พร้อมข้อความระบุว่าจีนกำลังระบายน้ำลงแม่น้ำโขง และอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยและลาว
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ วิดีโอแพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม Facebook พร้อมข้อความกำกับว่า “จีนร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขง หลายจังหวัดเตือน ระวัง น้ำโขงล้นตลิ่ง”
นอกจากนี้ เรายังพบวิดีโอดังกล่าวแพร่กระจายบน TikTok เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง วิดีโอดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
แม้ว่าข่าวที่ระบุว่าจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงจะเป็นเรื่องจริง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) แต่วิดีโอดังกล่าว เป็นวิดีโอที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในขณะนี้ โดยวิดีโอและข้อกล่าวอ้างเดียวกันนี้มีการแพร่กระจายตั้งแต่ปี 2564 (ดูที่นี่)
อย่างไรก็ตาม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เคยออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิดีโอและข้อกล่าวอ้างนี้ โดยอธิบายว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นเหตุการณ์การระบายน้ำของเขื่อนเสี่ยวล่างตี่ ซึ่งเป็นเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยแม่น้ำเหลืองอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศจีน ไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่น้ำล้านช้างซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำโขง แม่น้ำเหลืองไหลจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออกของจีน และไหลออกสู่ทะเลเหลือง ในขณะที่แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบตและไหลผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้
กอนช. ยืนยันว่าการปล่อยน้ำดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและลาว พร้อมทั้งขอให้ประชาชนหยุดแชร์คลิปวิดีโอที่สร้างความตื่นตระหนกดังกล่าว