
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์ข้อกล่าวอ้างที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสะอาดของคลองในญี่ปุ่น โดยระบุว่า ชาวญี่ปุ่นเทปลาลงไปในท่อน้ำทิ้ง เพื่อทำให้น้ำในคลองสะอาด พร้อมวิดีโอปลาคาร์พในลำคลองของเมืองในญี่ปุ่น
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
ผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม X รายหนึ่งได้แชร์ข้อความระบุว่า “”คนญี่ปุ่นเขาเทปลาลงไปแบบนี้ เพื่อไม่ให้คนอื่นๆ ทิ้งน้ำเสียลงคลอง ทำให้น้ำในคลองสะอาด แถมยังมีปลาสวยๆ งามๆ ให้ดูกันตลอดเวลา” พร้อมคลิปวิดีโอที่มีบุคคลเทปลาลงในท่อในทิ้ง และวิดีโอปลาคาร์พในคลองในประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดวิดีโอดังกล่าวมีการรับชมไปกว่า 1.6 ล้านครั้ง
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบวิดีโอพบว่า ช่วงต้นคลิปที่มีการเทปลาลงในท่อระบายน้ำนั้น ไม่ใช่ลูกปลาคาร์พ แต่เป็นปลาทอง
โดยลูกปลาคาร์พเมื่อยังไม่โตเต็มวัยจะมีลักษณะแตกต่างจากในคลิปดังกล่าว
ความแตกต่างระหว่างปลาทองและปลาคาร์พ
ปลาทอง: มีลำตัวสั้นและกลมกว่า โดยไม่มีหนวด (barbels) บนใบหน้า หากเป็นปลาทองที่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีตุ่มเล็กๆ (breeding tubercles) บริเวณฝาครอบเหงือก (operculum) และครีบอก (pectoral fins) ซึ่งตัวเมียจะไม่มี
ปลาคาร์พ: มีหัวทรงสี่เหลี่ยมและลำตัวยาวเรียวกว่า บริเวณใต้ปากจะมีหนวดเด่นชัด (barbels) โดยทั่วไปมีสองคู่ อย่างไรก็ตาม หากปลาทองอยู่ในสภาพผอมแห้ง ก็อาจดูคล้ายปลาคาร์พได้ในบางมุม (ที่มา)
ผลกระทบต่อระบบนิเวศ
การปล่อยปลาทองลงในแหล่งน้ำที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของมันอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ดังนี้:
- การกลายเป็นสปีชีส์รุกราน: ปลาทองสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและแย่งชิงทรัพยากรกับปลาในท้องถิ่น ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุลได้
- การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย: เมื่อปลาทองมีจำนวนมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำนั้น
- การผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์: ปลาทองอาจผสมพันธุ์กับปลาในท้องถิ่น นำไปสู่การเจือจางทางพันธุกรรมและทำให้ประชากรปลาท้องถิ่นถิ่นอ่อนแอลง
ท่อน้ำทิ้งถูกออกแบบมาเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ ไม่ใช่สถานที่สำหรับเลี้ยงปลา หากมีการปล่อยปลาลงไปจริง ปลาจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ขาดทั้งออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งอาจนำไปสู่การตายของปลาในเวลาอันสั้น แนวคิดนี้จึงขัดแย้งกับจุดประสงค์ที่ต้องการรักษาความสะอาด เพราะหากปลาตายจากมลพิษในท่อ อาจยิ่งก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและมลภาวะเพิ่มขึ้น
ลนอกจากนี้ เราไม่พบเอกสารหรือรายงานใดที่ระบุว่ามีการนำปลามาใช้ในลักษณะนี้เพื่อป้องกันการทิ้งน้ำเสียจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ รวมถึงแหล่งทางการของญี่ปุ่น เช่น กระทรวงสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานท้องถิ่น แนวคิดดังกล่าวจึงดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์หรือนโยบายรองรับ
ปลาคาร์พในคลองชิมาบาระ
คลองในเมืองชิมาบาระ (Shimabara) บนเกาะคิวชู มีปลาคาร์พอาศัยอยู่ในคลองของเมืองจริง โดยปลาคาร์พ (koi) ที่มักพบในคลองของเมืองนี้ไม่ได้มาจากการ “เทลงท่อน้ำทิ้ง” แต่เป็นผลจากการที่ชุมชนตั้งใจเลี้ยงเพื่อความสวยงามและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง คลองเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบน้ำเสีย แต่รับน้ำจากตาน้ำธรรมชาติที่ผุดขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว Unzen ในปี 1792 และปลาคาร์พถูกนำมาเลี้ยงตั้งแต่ปี 1978 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงทัศนียภาพ ไม่ใช่เพื่อป้องกันมลพิษ (ที่มา: Japan Insides)
ดังนั้น ความใสสะอาดของคลองที่มีปลาคาร์พในญี่ปุ่นมาจากน้ำพุธรรมชาติและความพยายามของชุมชนในการดูแลรักษา และกฎด้านความสะอาดรวมถึงพฤติกรรมการรักษาความสะอาดที่เคร่งครัดของชาวญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะใช้ปลาเป็นตัวยับยั้งหรือลดการทิ้งขยะหรือของเสียลงคลอง ตามที่ข้อกล่าวอ้างระบุ
สรุป
ไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนว่า “คนญี่ปุ่นเทปลาลงท่อน้ำทิ้งเพื่อป้องกันน้ำเสีย” ปลาคาร์พในคลองที่เห็นในญี่ปุ่นเกิดจากการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและความตั้งใจในการสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม โดยปลาคาร์พในวิดีโอนั้นอาศัยอยู่ในคลองน้ำสะอาดที่มาจากน้ำพุธรรมชาติ ไม่ใช่ท่อน้ำทิ้งแต่อย่างใด

Title:ชาวญี่ปุ่นปล่อยปลาคาร์พลงท่อน้ำ เพื่อช่วยรักษาความสะอาด จริงหรือไม่?
Fact Check By: Cielito WangResult: Misleading