เมื่อไม่นานมานี้ เราพบข้อกล่าวอ้างแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียว่ามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทย

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

พบข้อความแพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม LINE ระบุว่า “มาอีกแล้ว ไวรัส HMPV หนักกว่าโควิด ไทยนำเข้ามาแล้วอย่างเป็นทางการ มีอาการผสมระหว่างไข้หวัดใหญ่+โควิด ไม่มียาและไม่มีวัคซีนรักษา ก็ต้องป้องกันตนเองให้ดีที่สุด”

นอกจากนี้ เรายังพบข้อกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันบน Facebook ด้วยเช่นเดียวกัน

Source | Archive

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อกล่าวอ้างข้างต้นอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดและเกิดความกังวลได้ เนื่องจากอันที่จริงแล้ว hMPV ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด

ทำความรู้จัก hMPV

Human metapneumovirus หรือ hMPV คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ น้ำมูก คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ที่มีการค้นพบมานานหลายสิบปี ไม่ได้เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ แต่ที่เพิ่งมารู้จักกันในประเทศไทยไม่นาน เพราะเพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนาการตรวจหาเชื้อ ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ไม่นานนี้ โดยวิธีการ Swab ป้ายตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ RSV

โดยอาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะมีอาการของระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ โดยมักพบอาการในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ ส่วนในผู้ใหญ่และเด็กโตที่มีภูมิต้านทานดี หากติดเชื้อนี้ อาจจะมีอาการเหมือนแค่เป็นหวัดธรรมดา หรือไม่มีอาการก็ได้ (ข้อมูลจาก รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี เพจ คุยกับหมอภูมิแพ้เด็ก by Dr.Mai)

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ Human metapneumovirus (hMPV) ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2544 และอยู่ในตระกูล Pneumoviridae เช่นเดียวกับไวรัสระบบทางเดินหายใจ (RSV)

อาการและลักษณะการแพร่เชื้อ

อาการที่มักจะมากับ hMPV ได้แก่ ไอ มีไข้ คัดจมูก และหายใจลำบาก โดยการติดเชื้อ hMPV อาจนำไปสู่โรคหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมได้ และทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง คล้ายกับไวรัสชนิดอื่นๆ โดยระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 6 วัน และระยะเวลาอาการติดเชื้อโยทั่วไปอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ แต่โดยรวมคือมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัส

hMPV ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายจากผู้ติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ดังนี้

  • สารคัดหลั่งจากการไอและจาม
  • การสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การสัมผัสตัวหรือการจับมือ
  • การสัมผัสวัตถุที่มีไวรัสติดอยู่ แล้วสัมผัสปาก จมูก หรือตา

การป้องกันและการรักษา

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มียาต้านไวรัสที่สามารถรักษา hMPV ได้โดยเฉพาะ รวมถึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน hMPV ดังนั้นจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ในรายที่เป็นมาก มีปัญหาปอดอักเสบ หรือเกิดอาการหอบรุนแรง จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อพ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด เป็นต้น (ที่มา: โรงพยาบาลนครธน)

ในส่วนของการป้องกันการติดเชื้อ hMPV ได้แก่ การหมั่นล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี (ล้างมือโดยใช้สบู่อย่างน้อย 20 วินาที) หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือปากด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วย

ผู้ที่มีอาการคล้ายหวัดควรปิดปากและจมูกเมื่อไอและจาม หลีกเลี่ยงการใช้ถ้วยและอุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น และควรรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

ความแตกต่างระหว่าง hMPV และโควิด-19

แม้ว่าอาการของ hMPV มีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับโควิด-19 เนื่องจากไวรัสทั้งสองมีลักษณะที่เหมือนกันหลายอย่าง อาการที่คล้ายกันของโควิด-19 และ hMPV ได้แก่ อาการไอ หายใจลำบาก น้ำมูกไหล และมีไข้ นอกจากนี้ ไวรัสทั้งสองชนิดนี้แพร่กระจายในลักษณะเดียวกัน คือผ่านการติดต่อระหว่างบุคคลโดยส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะผ่านการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีเชื้อปนเปื้อน แล้วสัมผัสตา จมูก ปาก หรือติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งจากการไอและจาม และในส่วนของวิธีป้องกันไวรัสทั้งสองชนิดก็เหมือนกัน คือ การล้างมือ การทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัตถุที่มีการสัมผัส และการอยู่บ้านเมื่อป่วย

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างกันระหว่างโควิด-19 และ hMPV ก็คือ ในปัจจุบัน hMPV ยังไม่มีวัคซีนและไม่มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่โควิด-19 มีวัคซีนป้องกันและมียาต้านไวรัสแล้ว (ที่มา)

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:ไวรัส hMPV “ไม่ใช่” ไวรัสชนิดใหม่ ตามข้อกล่าวอ้างในโซเชียลมีเดีย

Written By: Cielito Wang

Result: Insight