ข้อมูลเท็จ: ส.ส. ได้รับบำนาญหลังรับตำแหน่งเพียง 2 ปี
เมื่อไม่นานมานี้ มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับเงินบำนาญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยระบุว่ามีการออกกฎหมายให้สิทธิ์ ส.ส. ให้ได้รับเงินบำนาญ ตามระยะเวลาการเป็น ส.ส.
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ได้แชร์ข้อความที่ระบุว่า “ส.ส. สามารถรับเงินบำนาญได้หลังจากดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี ในขณะที่ข้าราชการต้องมีอายุราชการนาน 25 ปี ถึงมีสิทธิ์ได้รับบำนาญ“ โดยข้อความดังกล่าวมีการแชร์อย่างแพร่หลายทั้งบน Facebook, X และ TikTok
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เราพบว่าข้อความดังกล่าวมีการแพร่กระจายมาตั้งแต่ปี 2566 (ที่มา | ลิงก์ถาวร) โดยทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า สิทธิในการได้รับบำเหน็จบำนาญของ ส.ส. และ ส.ว. สรุปได้ดังนี้
ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ยกเว้น 2 กรณี คือ
1. กรณีที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้นเคยเป็นข้าราชการและได้รับบำนาญมาแต่เดิมก่อนมาเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.
2. กรณีที่ ส.ส. หรือ ส.ว. นั้นเป็นข้าราชการการเมือง
กรณีที่ ส.ส. หรือ ส.ว. ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมือง เมื่อพ้นจากตำแหน่ง สามารถรับบำเหน็จบำนาญได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและสูตรการคำนวณตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ที่มา: ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือ ส.ส. และ ส.ว. มีสิทธิได้รับเงินหลังพ้นตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาจริง แต่เป็น "เงินทุนเลี้ยงชีพ" ไม่ใช่ "บำนาญ" โดยจะได้รับเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาสำหรับคำนวณเงินทุนเลี้ยงชีพ ไม่ได้รับตลอดชีพ ส่วนตัวเลขบำนาญที่ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียนั้น อาจมาจากการนำข้อมูลจากร่างพระราชกฤษฎีกาบำเหน็จบำนาญสมาชิกรัฐสภาที่เคยเสนอในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (ซึ่งไม่ได้ผ่านการพิจารณา) มาผสมกับข้อมูลเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ ส.ส. ในปัจจุบัน (ที่มา: Cofact)
สรุป
ข้อมูลที่ระบุว่า ส.ส. สามารถรับเงินบำนาญได้หลังจากดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี และมีจำนวนเงินสูงกว่าข้าราชการที่ทำงานมานานนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ยกเว้นในกรณีพิเศษ และเงินที่ได้รับหลังพ้นตำแหน่งเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพที่มีระยะเวลาจำกัด ไม่ใช่บำนาญตลอดชีพ