วัคซีน Pfizer-BioNTech COVID-19 เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักของโลกในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 แต่นอกจากจะเป็นที่พูดถึงและยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว วัคซีนชนิดนี้ก็มักกลายเป็นประเด็นในข่าวเท็จและข้อมูลที่ผิดต่างๆ เช่นกัน ข้อกล่าวอ้างที่เป็นเท็จมีตั้งแต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับจุดประสงค์ของวัคซีนและผู้ผลิต และล่าสุด เราพบข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับวัคซีนชนิดนี้ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้คนได้

อ่านข่าวโควิด-19 ที่เราตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ที่นี่

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียล

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ทวีตถึงผลเสียของวัคซีนไฟเซอร์ พร้อมกล่าวว่าวัคซีนไฟเซอร์นั้น “ไม่เคยผ่านการทดสอบป้องกันการติดไวรัสโควิด-19”

Source Post | Archive

โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวได้ทวีตข้อความว่า “เอกสารหลุดและถูกแฉถึงการปกปิดข้อความจริงของวัคซีน Pfizer ล่าสุดบริษัทฯแถลงยอมรับแล้วว่า วัคซีน Pfizer ส่งผลก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนเช่น กล้ามเนื้ออักเสบ เยื่อบุกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือด ที่สำคัญไม่เคยผ่านการทดสอบป้องกันการติดไวรัสโควิด 19 #วัคซีนเทพ” พร้อมแนบลิงก์เอกสารที่อ้างว่าเป็นเอกสารหลุด โดยทวีตดังกล่าวมีการดูไปแล้วกว่าเจ็ดแสนครั้ง

Fact Crescendo ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวและพบว่าเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากทวีตข้างต้นที่แนบลิงก์และอ้างว่าเป็นเอกสารหลุดของบริษัทไฟเซอร์ อันที่จริงแล้วลิงก์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์จากบริษัทไฟเซอร์เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับวัคซีนในงานวิจัย โดยทางไฟเซอร์กำลังตรวจสอบกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง และจะอัปเดตเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม

โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากวัคซีน

อาการที่กล่าวอ้างว่าเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น เป็นอาการที่พึงระวังและควรเฝ้าสังเกตหลังจากฉีดวัคซีน ไม่ใช่ข้อมูลลับแต่อย่างใด โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปอาการข้างเคียงที่พบหลังจากฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไว้ดังนี้

(ที่มา)

นอกจากนี้ ผศ. ดร. นายแพทย์ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงถึงเรื่องอาการแทรกซ้อนจากวัคซีนไว้ในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยอธิบายไว้ว่า ผลข้างเคียงจากวัคซีนไม่ใช่ข้อมูลที่เพิ่งค้นพบใหม่ แต่มีการวิจัยและศึกษากันมานานแล้ว แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน ไม่ได้พบบ่อย และพบไม่เท่ากันแต่ละช่วงอายุ

Source | Archive

จากงานวิจัยเกี่ยวกับอัตราของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 พบว่าอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีนสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่อาการโดยทั่วไปไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

นอกจากนี้องค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่า ผลข้างเคียงจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับรายงานบ่อยที่สุดนั้นเป็นอาการจำพวกที่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด เมื่อยล้า ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ มีรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่นการแข็งตัวของเลือดและปัญหาหัวใจในบางกรณี แต่ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

ไฟเซอร์ไม่เคยผ่านการทดสอบป้องกันการติดไวรัสโควิด-19?

ข้อกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ไฟเซอร์และ BioNTech ได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ก่อนที่จะนำไปใช้กับสาธารณชน โดยได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกกับผู้เข้าร่วมหลายพันคนและปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดสำหรับการทดสอบยาและวัคซีนใหม่ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโควิด-19 (อ่านบทความเกี่ยวกับการทดสอบวัคซีนไฟเซอร์ได้ที่นี่)

สรุป

จากข้อกล่าวอ้างที่กล่าวว่าวัคซีนไฟเซอร์ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนและยังไม่เคยทำการทดสอบการป้องกันโควิดนั้นเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด มีบทความยืนยันความปลอดภัยในการใช้วัคซีนชนิดนี้จากองค์กรด้านสุขภาพต่างๆ ที่เชื่อถือได้ทั่วโลก และมีงานวิจัยยืนยันถึงการทดสอบการป้องกันไวรัสโควิด-19 และพบว่าวัคซีนไฟเซอร์สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Avatar

Title:อย่าแชร์! ทวีตไฟเซอร์เอกสารหลุด ชวนให้เข้าใจผิด

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading