ช่วงฤดูร้อนในประเทศไทยถือเป็นอีกช่วงเวลาที่ควรเฝ้าระวังด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว อุณหภูมิที่สูงจัดในช่วงนี้ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเกี่ยวกับอาการฮีทสโตรก รวมถึงมีผู้หมดสติจากสภาพอากาศร้อนจัดให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และนอกจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว เราพบข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิดที่กำลังแพร่กระจายบนบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายได้แชร์ข้อความเตือนเกี่ยวกับการรับมือภัยร้อน โดยระบุว่า:

“ให้เตรียมรับมือกับอุณหภูมิ 40-50 องศา ควรดื่มน้ำสะอาด ดื่มช้าๆ หลีกเลี่ยงน้ำเย็น น้ำแข็ง ขณะนี้ มาเลียเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

  1. หมอบอกว่า หากร้อนถึง 40 องศา ไม่ควรดื่มน้ำเย็นต่อไป เพราะหลอดเลือดเล็กอาจปริหรือระเบิดได้ เพื่อนของหมอคนหนึ่งมาจากข้างนอก ร้อนจนเหงื่อแตก รีบล้างเท้าด้วยน้ำเย็น ผลคือตามองไม่เห็นต้องรีบเรียกรถพยาบาล
  2. หากร้อนถึง 38 องศา ก็ปล่อยร่างกายร้อนไป อย่าดื่มน้ำเย็น ให้ดื่มน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น ค่อยๆ ดื่ม อย่ารีบร้อนล้างขาล้างมือหรือส่วนที่ถูกแดดเผา ควรรอสัก 30 นาทีค่อยอาบน้ำ
  3. ชายคนหนึ่งร้อนมากรีบอาบน้ำ อาบเสร็จขากรรไกรแข็ง เป็นสโตรคไปเลย ข้อควรระวัง ในหน้าร้อนหรือยามคุณอ่อนเพลีย หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็นทันที เพราะมันจะทำให้หลอดเลือดหดเล็ก แล้วเป็นสโตรค (สอนลูกหลานด้วย) ด้วยความห่วงใย”

Source | Archive

โดยข้อความดังกล่าวได้มีการแชร์ต่ออย่างแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย

เราได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการค้นหาการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับกรณีที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่ามีรายงานเกี่ยวกับอาการป่วยในลักษณะดังกล่าว เช่น อาการฮีทสโตรกที่เกิดจากการดื่มน้ำเย็นในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือไม่

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

Dr. Richard Santos อธิการบดีของ Philippine College of Emergency Medicine กล่าวว่า แม้ว่าโพสต์ข้างต้นจะมีข้อมูลที่ถูกต้องอยู่บ้าง แต่ก็สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรคหลอดเลือดสมองกับการดื่มน้ำเย็นในสภาพอากาศร้อนที่ไม่ถูกต้องนัก เขาให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่าน้ำเย็นทำให้หลอดเลือดตีบลง ซึ่งเป็นการตอบสนองทางสรีรวิทยาของร่างกายเมื่อสัมผัสกับความเย็น แต่เขาย้ำว่าไม่มีหลักฐานว่าการดื่มน้ำเย็นเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากหลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแตกก็ตาม

Dr. Santos ได้กล่าวเสริมว่า ในช่วงฤดูร้อน หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการขาดน้ำได้ และยังกล่าวอีกว่าน้ำเย็นอาจเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และโอกาสที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการดื่มน้ำเย็นนั้นมีน้อยมาก

นอกจากนี้ Dr. Santos ยังแนะนำว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียไม่ควรทำตามคำแนะนำที่ระบุว่า “ปล่อยให้ร่างกายร้อนไป” โดยอธิบายว่าควรมีการจำกัดเวลาที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง และร่างกายของเราสามารถควบคุมอุณหภูมิได้โดยการอยู่ในที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลาไม่เกิน 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น หากอยู่ในที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน ควรหาทำให้ร่างกายเย็นลงเพื่อลดอุณหภูมิทันที

Dr. Jose Paciano Reyes แพทย์ด้านประสาทวิทยาและประธานสมาคมประสาทวิทยาแห่งฟิลิปปินส์กล่าวว่าหลอดเลือดในสมองจะไม่แตกเมื่อสัมผัสกับความเย็น โดยอธิบายว่า การแช่ตัวในน้ำเย็นและอาบน้ำกะทันหันอาจทำให้เกิดอาการ "ช็อกจากความเย็น (Cold Shock)" ซึ่งจะทำให้สูญเสียการควบคุมการหายใจ หลอดเลือดตีบตัน และความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

แต่การดื่มน้ำเย็นและการอาบน้ำ "ปกติแล้วจะไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง" Dr. Reyes กล่าว พร้อมสังเกตว่าการดื่มน้ำเย็นมีประโยชน์ เช่น ทำให้ร่างกายเย็นลง ป้องกันความร้อนสูงเกินไป และลดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม Dr. Reyes เตือนว่าการดื่มน้ำเย็นทันทีหลังจากอยู่ในที่อุณหภูมิสูงอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โดยอาจมีความเสี่ยงของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นในผู้ที่มีอาการป่วยอยู่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตและหัวใจทำงานหนักเกินไป (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ที่นี่)

Dr. Carla Robinson แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญด้านทุรเวชปฏิบัติในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสื่อและเป็นผู้เขียนบทความด้านการแพทย์ของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่าเมื่อรู้สึกร้อนมากเกินไป สามารถบรรเทาอาการได้โดยการดื่มน้ำเย็นหรือทำให้ร่างกายเย็นลงด้วยน้ำเย็น โดย Dr. Robinson ระบุว่า การระบายความร้อนให้กับผู้ที่มาห้องฉุกเฉินด้วยอาการป่วยจากความร้อนหรือฮีทสโตรกเป็นวิธีการรักษาที่แพทย์รวมถึงตัวเธอเองใช้ เธอยังกล่าวในการสัมภาษณ์กับ wcnc.com ว่าอาการปวดหัวหรือวิงเวียนเนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนจัดมักเกิดจากความอ่อนล้าจากความร้อนหรืออาการป่วยจากความร้อน ไม่ใช่จากเครื่องดื่มเย็นๆ โดยในปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ความร้อนในอเมริกา ข้อความเหล่านี้จึงถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง และ Dr. Robinson ได้อธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเข้าใจผิดดังกล่าวในวิดีโอนี้

ส่วนในประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็เคยออกมาโต้แย้งข้อกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โต้แย้งถึงข้อความที่แชร์บนโซเชียลอย่างแพร่หลายดังกล่าวว่า โดยระบุว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมอธิบายว่า “ร่างกายของคนเราตามปรกติ จะมีกลไกในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้ใกล้เคียงกับ 37 องศาเซลเซียส ดังนั้น ถึงจะเป็นวันที่อากาศร้อนจัด แล้วเราดื่มน้ำเย็น ก็อาจจะรู้สึกเย็นวูบไปตามหลอดอาหารลงไปที่กระเพาะได้ ตามที่น้ำเย็นเคลื่อนที่สัมผัสเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งถ้ามันเย็นเกินไปต่อร่างกาย สมองของเราก็จะสั่งการให้หลอดเลือดต่างๆ หดตัว และสั่งให้กล้ามเนื้อสั่น เพื่อปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้กลับสู่ 37 องศาเซลเซียส”

การดูแลตัวเองในช่วงอากาศร้อนจัด

ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ได้แนะนำให้ผู้คนดื่มน้ำมากขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน จำกัดกิจกรรมกลางแจ้ง และหาวิธีคลายร้อน เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศหรือการว่ายน้ำ เพื่อให้ร่างกายเย็นลง ผู้คนสามารถแช่ในอ่างน้ำเย็นหรืออ่างน้ำธรรมดาก็ได้ (อ่านบทความเต็มจาก CDC ได้ที่นี่)

เว็บไซต์ Better Health ได้ระบุวิธีต่างๆ ในการรับมือและลดอุณหภูมิร่างกายในช่วงอากาศร้อนจัด คือการรักษาความชุ่มชื้นของร่างกายเป็นหลัก รักษาความเย็น และหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงในช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน คำแนะนำอื่นๆ ได้แก่ สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สีอ่อน และสังเกตกลุ่มบุคคลที่มีความเปราะบางให้มากยิ่งขึ้น เช่น ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก (อ่านบทความเต็มได้ที่นี่)

นอกจากนี้ สามารถดูคำแนะนำการป้องกันความเสี่ยงและการดูแลตัวเอง สำหรับแต่ละช่วงวัย จากกระทรวงสาธารณสุขได้ที่นี่

Avatar

Title:ดื่มน้ำเย็นขณะอากาศร้อนจัดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จริงหรือไม่?

By: Cielito Wang

Result: Explainer