การแชร์ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับสุขภาพมีให้เห็นได้ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ ยิ่งในยุคที่การใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นสูง ผู้คนก็สามารถแชร์ความคิดเห็นและความเชื่อของตนได้ง่ายดายยิ่งขึ้น แม้ว่าข้อมูลนั้นจะไม่ถูกต้องก็ตาม และการแชร์ข้อมูลผิดๆ นี้ก็นำไปสู่ข้อกล่าวอ้างที่ผิดพลาดมากมายซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่เชื่อข้อกล่าวอ้างเหล่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของข้อมูลผิดๆ ที่เราพบล่าสุดคือ ข้อกล่าวอ้างที่มีการแชร์อย่างเป็นวงกว้างว่ามีคนเสียชีวิตจากการรับประทานกุ้งพร้อมกับวิตามินซี ข้อกล่าวอ้างนี้แพร่กระจายในโซเชียลมีเดียมานานหลายปี และอาจสร้างเกิดความกลัวโดยไม่จำเป็น

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โพสต์ข้อความเตือนถึงอันตรายของการรับประทานกุ้งพร้อมวิตามินซี พร้อมขอให้ผู้คนแชร์ข้อความต่อไปเพื่อเตือนบุคคลอื่น โดยข้อความระบุว่า:

“เสียเวลาอ่านนิดหนึ่งนะ...อันตรายทีไม่เคยรู้มาก่อน ..ที่ไต้หวัน หญิงคนหนึ่งเลือดออกทางทวารทั้ง 7 โดยไม่รู้สาเหตุ เสียชีวิตในข้ามคืนเดียว จากการชันสูตรศพเบื้องต้น ลงความเห็นว่าตายเพราะพิษสารหนู แล้วสารหนูมาจากไหนล่ะ ตำรวจเริ่มสืบสวนในวงกว้าง และเชิญศาสตราจารย์นิติเวชมาร่วมคลี่คลายคดี ศาสตราจารย์ตรวจวิเคราะห์สิ่งตกค้างในกระเพาะ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เปิดโปงสาเหตุการตายฉับพลัน "ผู้ตายไม่ได้ฆ่าตัวตาย ไม่ได้ถูกลอบสังหาร แต่ตายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถูกมันฆ่า"ศาสตราจารย์ฟันธงผู้คนงงเป็นไก่ตาแตก อะไรคือ"มันฆ่า" แล้วสารหนูมาจากไหน ศาสตราจารย์กล่าวว่า สารหนูเกิดในกระเพาะผู้ตาย ผู้ตายกินวิตามินซีทุกวัน นี่ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ เธอกินกุ้งจำนวนมากในมื้อเย็น กินกุ้งโดยลำพังก็ไม่มีปัญหา คนในบ้านกินกันก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ผู้ตาย กินวิตามินซีพร้อมกันด้วย ปัญหาจึงเกิดตรงนี้แหละ

นักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโกเคยทำการทดลอง พบว่าสัตว์เปลือกอ่อนเช่นกุ้งมีสารประกอบอาเซนิกเข้มข้นในปริมาณสูง สารประกอบชนิดนี้เข้าไปอยู่ในร่างกายก็ไม่มีพิษภัยอะไร แต่เมื่อรับประทานวิตามินซีพร้อมกัน จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้สารประกอบเดิมที่มีสูตรเคมี As2O5หรืออาเซนิกออกไซด์ซึ่งไม่มีพิษ กลายเป็นสารประกอบที่มีสูตรเคมี As2O 3 หรืออาเซนิกไตรอกไซด์ซึ่งมีพิษ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าสารหนูนั้นเองพิษสารหนูจะทำให้การทำงานของเส้นโลหิตฝอยและเอนไซม์ของซัลฟีดรีลขัดข้อง เกิดอาการเลือดคั่งใน หัวใจ ตับ ไต และลำไส้ เซลล์ผิวหนังตายด้าน เส้นโลหิตฝอยขยายตัว ดังนั้น ผู้ที่รับพิษจนตาย จะมีเลือดออกทางทวารทั้งเจ็ด เพราะฉะนั้น ในระยะที่รับประทานวิตามินซี(รวมถึงผลไม้ที่มีสารตามินซีสูง) ต้องงดกินอาหารประเภท กุ้ง เพื่อความไม่ประมาท เมื่ออ่านจบ โปรดบอกต่อไปยังญาติโยมเพื่อนฝูงให้ระวังด้วย”

Source | Archive

Source | Archive

เราพบว่าข้อความดังกล่าวมีการแปลและดัดแปลงมาจากโพสต์ภาษาอังกฤษที่มีการแชร์เกือบสี่แสนครั้ง โดยยังมีการแชร์โพสต์ดังกล่าวอยู่จนถึงเร็วๆ นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เราไม่พบหลักฐานรวมถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่รองรับข้อกล่าวอ้างดังกล่าว

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตจากสารหนู โดยการรับประทานกุ้งพร้อมกับวิตามินซี แต่ก็ไม่พบรายงานใดๆ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

สารหนูคืออะไร

สารหนู (Arsenic) เป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสารประกอบอินทรีย์และอนินทรีย์ต่างๆ แม้ว่าอาหารทะเลอาจมีสารหนูอยู่ แต่ก็เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษ สารหนูแบบอนินทรีย์ที่มีความเป็นพิษมากกว่ามักพบในดินและในน้ำบาดาล และในบางพื้นที่ที่ทำอุตสาหกรรม สารหนูก็อาจมีความเข้มข้นสูงมากกว่าที่อื่นๆ เช่น การขุดและการถลุงแร่ ที่ทำให้เกิดสารหนูแบบอนินทรีย์ได้เช่นกัน

ในปี 2013 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับระดับที่ปลอดภัยของสารหนูในน้ำแอปเปิล โดยระบุว่าอาหารบางชนิดอาจมีสารหนูได้ เนื่องจากเป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในสิ่งแวดล้อม รวมถึงจากการใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารหนูในอดีต สารหนูแบบอนินทรีย์เป็นสารก่อมะเร็งและอาจก่อให้เกิดโรคผิวหนัง ปัญหาด้านพัฒนาการ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นพิษต่อระบบประสาท และก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน อ่านประกาศจาก อย. สหรัฐได้ที่นี่

ตามเอกสารขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับสารหนูได้ระบุว่า สารประกอบของสารหนูแบบอนินทรีย์ (เช่น ที่พบในแหล่งน้ำบางแห่ง) นั้นมีความเป็นพิษสูง ในทางตรงกันข้าม สารประกอบสารหนูอินทรีย์ (เช่น ที่พบในอาหารทะเล) เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่า และเอกสารข้อเท็จจริงนี้ยังระบุอาการของพิษเฉียบพลันของสารหนูและการได้รับสารหนูในระยะยาวอีกด้วย การได้รับพิษจากสารหนูโดยไม่ได้ตั้งใจอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่จำกัดเฉพาะกรณีที่ได้รับพิษรุนแรงเท่านั้น เมื่อได้รับพิษเฉียบพลันจากสารหนู จะมีอาการได้แก่ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ชา/รู้สึกเจ็บแปลบๆ บริเวณแขนและขา และปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะมีเลือดออกจากหู จมูก ตา หรือปากร่วมด้วย

การได้รับสารหนูอนินทรีย์เป็นเวลานาน (อย่างน้อย 5 ปี) สามารถนำไปสู่โรคมะเร็งปอด กระเพาะปัสสาวะ และผิวหนังได้ โดยอาการแรกเริ่มมักเกิดขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งรวมถึงการสร้างเม็ดสี จุดด่างดำ และแผลที่เท้าและฝ่าเท้า อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกทางทวารทั้ง 7 ตามที่กล่าวอ้างในโพสต์นั้นไม่ได้มีการระบุอยู่ในข้อมูลเกี่ยวกับสารหนูของ American Cancer Society ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ส่วนในอาหารทะเล ข้าว ธัญพืชที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบ เห็ด และสัตว์ปีกอาจมีสารหนูแบบอินทรีย์อยู่บ้าง แต่ต้องได้รับสารหนูในปริมาณสูงมากจึงจะถือเป็นสารก่อมะเร็ง และจากข้อมูลของ American Cancer Society สารหนูแบบอินทรีย์ในอาหารทะเลและสัตว์มีเปลือกต่างๆ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับมะเร็งมากนัก

ปริมาณสารหนูในกุ้ง

เราได้หาข้อมูลเกี่ยวกับระดับของสารหนูอนินทรีย์ที่พบในกุ้ง มีการศึกษาหลายๆ ชิ้น รวมถึงงานวิจัยนี้ที่ระบุว่าปริมาณสารหนูที่พบในกุ้งนั้นความเข้มข้นต่ำมาก ซึ่งมีน้อยกว่า 1 มิลลิกรัม และยังมีบทความที่อธิบายว่าด้วยว่าจะต้องบริโภคกุ้งประมาณหนึ่งร้อยกิโลกรัมเพื่อให้ได้ Arsenic Trioxide ในปริมาณที่อันตรายถึงตายต่อร่างกายมนุษย์

งานวิจัยล่าสุดจากบราซิลพบว่ากุ้งประเภท Wild Shrimp มีสารหนูอนินทรีย์สูงกว่ากุ้งที่เลี้ยงในฟาร์มเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงควรมีมาตรการกำกับดูแลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการได้รับสารหนูจากการบริโภคกุ้งนั้นมีน้อยมาก โดยคิดเป็นน้อยกว่า 1% ของการบริโภคสารหนูทั้งหมด (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ได้ในบทความเหล่านี้ที่นี่และที่นี่)

นอกจากนี้ จากรายงานพบว่าสารที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำมะนาวและซอสมะเขือเทศมักถูกนำมาใช้ในอาหารทั้งในเอเชียและตะวันตก รวมถึงเมนูอาหารไทยอันโด่งดังอย่างต้มยำกุ้ง หรือน้ำจิ้มซีฟู้ดที่มักจำรับประทานคู่กับกุ้งอยู่เสมอ ก็ล้วนแต่ใช้สารวิตามินซีสูง เช่น มะนาว มะขาม หรือมะเขือเทศ เป็นวัตถุสำคัญ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์พิษจากสารหนูจากกุ้งและวิตามินซีร่วมกันก็น่าจะได้มีรายงานและมีกรณีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้ว แต่เราก็ยังไม่พบว่ามีรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่มาของความเชื่อผิดๆ

แนวคิดที่ว่าการบริโภคกุ้งและวิตามินซีร่วมกันอาจทำให้เกิดพิษจากสารหนูนั้น เชื่อว่ามีต้นตอมาจากการศึกษาในปี 1985 ของ University of Illinois รายงานโดย Chicago Tribune โดยการศึกษาชี้ให้เห็นว่าวิตามินซีและกุ้งในปริมาณมากสามารถเปลี่ยนสารประกอบบางชนิดให้เป็นสารหนูได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม งานศึกษาชิ้นดังกล่าวก็ไม่ระบุว่าอาจทำให้เกิดพิษจากสารหนูในทันทีที่บริโภค รายงานบางฉบับชี้ว่าการศึกษาดังกล่าวอาจมีข้อบกพร่อง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อกล่าวอ้างนี้ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่างานศึกษาฉบับนี้เป็นเพียงฉบับเดียวจากปี 1985 และไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดๆ เพิ่มเติมที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ โดยไม่มีการศึกษาใดระบุว่าการกินกุ้งและวิตามินซีร่วมกันอาจทำให้เสียชีวิตจากพิษของสารหนูภายในไม่กี่ชั่วโมงได้

คำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ

Professor Vincent Idemyor ศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ จาก University of Port Harcourt ในตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย ได้อธิบายกับ Africacheck ว่า "ภาวะพิษจากสารหนูเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีปริมาณสารหนูในเลือดสูง" อย่างไรก็ตาม สารหนูเป็นสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวโลก และได้อธิบายเพิ่มเติมว่าอนุภาคของสารหนูมีอยู่ในอาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ และแม้กระทั่งในน้ำ ซึ่งหมายความว่าสารหนูเป็นสารที่พบได้ทั่วไปและอยู่ในร่างกายของคนเรา

อย่างไรก็ตาม Prof. Vincent ยังกล่าวด้วยว่าวิตามินซีและกุ้งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการทานทั้งสองอย่างนี้ร่วมกันก็ไม่เป็นอันตราย ในกรณีที่อาจเป็นปัญหาคือหากอาหารทะเลมีสารพิษปนเปื้อน แต่กุ้งและปูไม่ใช่อาหารที่มีสารปนเปื้อน และปลอดภัยในการรับประทาน รวมถึงการรับประทานพร้อมวิตามินซีด้วย อ่านบทความตรวจสอบข้อเท็จจริงฉบับเต็มพร้อมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่นี่

นอกจากนี้ รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาอธิบายถึงข้อความไวรัลดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก โดยยืนยันว่ากรณีดังที่แอบอ้างนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกินกุ้งหรืออาหารทะเลกับวิตามินซี และระบุเพิ่มเติมว่า “สารหนูนั้น ถ้าร่างกายเรารับเข้าไปมากๆ ก็ทำให้ถึงตายได้แต่มันก็เกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ และพบทั่วไปในดิน คนเราจึงมีสิทธิที่จะได้รับสารหนูจากอาหารต่างๆ หรือน้ำได้ อาหารทะเลเองก็เช่นกัน เพียงแต่มันมักจะอยู่ในรูปสารอินทรีย์ ซึ่งมีพิษน้อยกว่าในรูปสารอนินทรีย์ ... ซึ่งวิตามินซี ไม่ได้จะสามารถเปลี่ยนสารหนูให้อยู่ในรูปฟอร์มที่มีพิษเช่นนั้น” ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักฐานที่เราระบุข้างต้นอีกด้วย

Source | Archive

องค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยก็ได้เผยแพร่บทความหักล้างความเชื่อผิดๆ นี้เช่นกัน โดยระบุว่า “ในกุ้งถึงแม้จะมีสารประกอบอาร์เซนิกอยู่บ้าง แต่พบในรูปแบบอินทรีย์ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกายคน และพบในปริมาณที่น้อยมากๆ จนไม่เกิดพิษ และจะถูกกรดจากในกระเพาะทำลายได้ ส่วนวิตามินซีนั้น ไม่มีข้อมูลว่าสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารหนูได้อย่างที่ข่าวแชร์ได้กล่าวอ้างกันมา รวมทั้งไม่พบรายงานหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อมโยงไปถึงปฏิกิริยา ระหว่างกุ้งกับวิตามินซีได้ ดังนั้นสรุปได้ว่า เราสามารถกินกุ้งร่วมกับวิตามินซีได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด โดยเริ่มตั้งแต่เลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และควรล้างทำความสะอาดวัตถุดิบให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันอันตรายจากสารที่ตกค้างจากวัตถุดิบได้”

ที่มา: เว็บไซต์องค์การอาหารและยา

บทสรุป

คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการกินกุ้งพร้อมวิตามินซีอาจทำให้เสียชีวิตกะทันหันนั้นไม่มีมูลความจริงและสร้างความหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น โดยเราไม่พบรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ และเรื่องราวในข้อความที่แชร์ต่อกันมาก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากงานวิจัยในปี 1985 ที่ระบุว่าการบริโภควิตามินซีและกุ้งในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติม และผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่ายก็ยังได้ยืนยันว่าการกินกุ้งพร้อมกับวิตามินซีไม่ได้ทำให้เสียชีวิตหรือก่อให้เกิดอาการรุนแรงใดๆ

Avatar

Title: ผู้เชี่ยวชาญยืนยัน กินกุ้งพร้อมกับวิตามินซี ไม่เป็นอันตราย

Fact Check By: FC Team

Result: False