ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็พัฒนาและซับซ้อนมากขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ เราพบว่ามิจฉาชีพในรูปแบบใหม่ ใช้วิธีการสร้างเพจปลอมที่อ้างว่าแจกต้นไม้ฟรี เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อและแอดไลน์เพื่อดึงข้อมูลส่วนตัว
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เราได้รับเบาะแสจากผู้ใช้ผ่านทาง LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา เกี่ยวกับเพจที่กล่าวอ้างว่าแจกต้นไม้ฟรีให้กับผู้ที่สนใจ โดยเมื่อเราตรวจสอบเพิ่มเติม ก็พบว่ามีผู้ใช้หลายรายที่ออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับเพจดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมของเพจดังกล่าว โดยเมื่อดูในส่วน “ความโปร่งใสของเพจ” จะเห็นว่าเพจดังกล่าวผู้ดูแลเพจส่วนใหญ่จะอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าอาจเป็นเพจหลอกลวง
นอกจากนี้ เราพบว่าเพจดังกล่าวใช้ที่อยู่ปลอมในส่วนข้อมูลบนเพจ โดยเมื่อเราค้นหาที่อยู่ตามที่ระบุในเพจแล้วพบว่า เป็นที่อยู่ของ สำนักนิติการ กรมวิชาการเกษตร
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เราใช้ฟีเจอร์การค้นหารูปภาพย้อนกลับ (Reverse Image Search) เพื่อหาที่มาของรูปภาพต้นไม้ในเพจดังกล่าว และพบว่าที่มาของรูปภาพมาจากเพจร้านต้นไม้ “เบี้ยไม้ พันธุ์ไม้ราคาถูก” โดยมีการโพสต์รูปนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2567
ทีม Fact Crescendo ได้ติดต่อเพื่อสอบถามร้านต้นไม้ดังกล่าว และทางร้านยืนยันว่าเป็นผู้ถ่ายภาพดังกล่าวเอง แต่เพจที่แอบอ้างนั้นไม่ใช่เพจของทางร้านแต่อย่างใด
รูปแบบของการหลอกลวงของเพจปลอม
สร้างเพจปลอมที่ดูน่าเชื่อถือ: ใช้ชื่อและโลโก้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติหรือการปลูกต้นไม้ เช่น “แจกต้นไม้ฟรี” หรือ “รักธรรมชาติ” เพื่อดึงดูดผู้ที่สนใจการปลูกต้นไม้
โพสต์ข้อความชวนเชื่อ: โพสต์ภาพต้นไม้ พร้อมข้อความว่า “แจกต้นไม้ฟรี” แต่เมื่อผู้ใช้ติดต่อผ่านทางข้อความ ก็จะแจ้งให้แอดบัญชีไลน์
ขอข้อมูลส่วนตัว: เมื่อผู้ใช้แอดไลน์ไป มิจฉาชีพจะขอข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งข้อมูลทางการเงินโดยอ้างว่าจะใช้ส่งของหรือยืนยันตัวตน
ส่งลิงก์อันตราย: บางกรณี มิจฉาชีพอาจส่งลิงก์ที่มีมัลแวร์ หรือฟิชชิงเพื่อขโมยข้อมูลในโทรศัพท์ของเหยื่อ
วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงมิจฉาชีพ
ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจ: ดูที่ส่วน “ความโปร่งใสของเพจ” (Page Transparency) ว่าเคยมีการเปลี่ยนชื่อหรือไม่ มีผู้ดูแลเพจในประเทศหรือไม่ รวมถึงดูในส่วนรีวิวเพจ ว่าสอดคล้องกับประเภทของเพจหรือไม่
หลีกเลี่ยงการแอดไลน์หรือกดลิงก์ที่ไม่คุ้นเคย: หากเพจใดขอให้แอดไลน์หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว ควรหลีกเลี่ยงและตรวจสอบก่อน และไม่ควรคลิกลิงก์ใดๆ ที่น่าสงสัย เนื่องจากอาจเป็นมัลแวร์ได้
อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลแปลกหน้า: ไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลทางการเงิน ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนทุกครั้ง
หากตกเป็นเหยื่อควรทำอย่างไร
หยุดติดต่อกับมิจฉาชีพและแจ้งธนาคารทันที: บล็อกบัญชีไลน์หรือผู้ติดต่อที่น่าสงสัย และแจ้งธนาคารผ่านสาวยด่วน ศูนย์บริการลูกค้า หรือสาขาเพื่อระงับบัญชีภายใน 72 ชั่วโมง
เปลี่ยนรหัสผ่านและเก็บหลักฐาน: เปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเก็บข้อมูลหลักฐานทุกอย่างก่อนรีเซตโทรศัพท์
แจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง: แจ้งความที่สถานีตำรวจหรือผ่านเว็บไซต์ตำรวจออนไลน์ (https://thaipoliceonline.com/) พร้อมแสดงหลักฐานและเลขที่คำขอจากธนาคาร (Bank Case ID)
ติดตามความคืบหน้า: ใช้เลขที่คำขอในการติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือธนาคาร และแจ้งเตือนคนรอบข้างเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
(ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

Title:เตือนภัย: เพจปลอมแอบอ้างว่าแจกต้นไม้ฟรี เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว
Fact Check By: Cielito WangResult: Insight