
เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อความแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับกลการหลอกลวงแบบใหม่ที่เรียกว่า SIM SWAP
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เราได้รับเบาะแสเกี่ยวกับกรณี “Sim Swap Fraud” ผ่านช่องทางไลน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา มีการแชร์ข้อความว่า มิจฉาชีพสามารถหลอกให้เหยื่อกดปุ่ม “1” บนโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้หมายเลขโทรศัพท์ถูกโอนไปยังซิมของมิจฉาชีพ ทำให้เหยื่อไม่สามารถใช้โทรศัพท์และไม่ได้รับการแจ้งเตือนธุรกรรมจากธนาคาร โดยข้อความดังกล่าวส่งต่อกันอย่างแพร่หลายผ่านช่องทาง LINE
นอกจากนี้ เรายังพบข้อความเดียวกันแพร่กระจายบน Facebook อีกด้วย
พบข้อมูลที่น่าสงสัย? ส่งให้เราช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ที่นี่
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
SIM Swap Fraud คืออะไร?
SIM Swap Fraud เป็นกลโกงที่มิจฉาชีพใช้เพื่อเข้าถึงบัญชีออนไลน์ของเหยื่อ โดยเฉพาะบัญชีธนาคารและโซเชียลมีเดีย วิธีการทำงานของกลโกงนี้คือ มิจฉาชีพจะย้ายหมายเลขโทรศัพท์ของเหยื่อไปยังซิมการ์ดใหม่ที่สามารถควบคุมได้ ทำให้สามารถรับข้อความยืนยันและรหัส OTP ที่ใช้สำหรับเข้าถึงบัญชีสำคัญได้
SIM Card คืออะไร และทำงานอย่างไร?
SIM Card (Subscriber Identity Module) เป็นชิปที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ใช้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถโทรออก ส่งข้อความ และใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดย SIM Card มีการพัฒนาจากขนาดใหญ่ไปสู่ Mini SIM, Micro SIM, Nano SIM และล่าสุดคือ e-SIM ซึ่งฝังอยู่ในอุปกรณ์โดยไม่ต้องใช้การ์ดแยก
การเปลี่ยนซิมต้องมีการยืนยันตัวตน
ปกติแล้ว การเปลี่ยนซิม (SIM Swap) ต้องดำเนินการผ่านผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งมักต้องใช้บัตรประชาชนหรือรหัส OTP ที่ส่งไปยังหมายเลขเดิมของผู้ใช้ และไม่มีระบบที่สามารถเปลี่ยนซิมได้เพียงแค่กด “1” ตามที่กล่าวอ้าง
โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณไม่ได้แปลว่าถูกแฮ็ก
ในบางกรณี สัญญาณโทรศัพท์อาจขาดหายจากปัญหาเครือข่าย หรือปัญหาทางเทคนิคของผู้ให้บริการ หากไม่มีสัญญาณเป็นเวลานาน ควรติดต่อผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบ
SIM Swap Fraud จริงๆ แล้วทำงานอย่างไร
- มิจฉาชีพจะโทรหาผู้ให้บริการเครือข่ายโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของหมายเลข และแจ้งว่าซิมหายหรือเสียหาย
- พนักงานจะตรวจสอบข้อมูล ซึ่งมิจฉาชีพอาจได้มาจากการ Phishing หรือข้อมูลที่รั่วไหล
- ซิมใหม่จะถูกเปิดใช้งานในอุปกรณ์ของมิจฉาชีพ ทำให้ OTP และข้อความสำคัญถูกส่งไปที่ซิมใหม่แทน
- มิจฉาชีพจะใช้ OTP เพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคารหรือโซเชียลมีเดียของเหยื่อ
SIM Swap Fraud ไม่สามารถแฮ็กบัญชีธนาคารได้ทันที
แม้ว่ามิจฉาชีพจะได้รับ OTP แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงรหัสผ่านหรือข้อมูลอื่นๆ ของเหยื่อได้ การตั้งรหัสผ่านที่ซับซ้อนและคาดเดายากมากขึ้น และไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ จะช่วยลดความเสี่ยงได้
e-SIM ช่วยลดความเสี่ยงของ SIM Swap Fraud ได้อย่างไร?
- e-SIM เป็นชิปฝังในสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่มีซิมการ์ดที่สามารถถูกขโมยหรือเปลี่ยนได้
- การเปิดใช้งาน e-SIM ต้องผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนที่เข้มงวด
- มิจฉาชีพไม่สามารถอ้างว่าซิมหายเพื่อขอเปลี่ยนซิมได้
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสมาคมโทรคมนาคมฯ ได้ชี้แจงถึงข้อความดังกล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ให้บริการ และ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลได้มีมาตรการป้องกันกรณีการสวมสิทธิออกซิมทดแทน การแอบอ้าง รวมถึงในแง่เทคนิค ทำให้กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หรือมีความเป็นไปได้น้อยมาก
ที่มา: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วิธีป้องกันตัวเองจาก SIM Swap Fraud
- หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลส่วนตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ หรือวันเกิด บนโซเชียลมีเดีย
- ระวัง Phishing Scams – ไม่ควรคลิกลิงก์ที่น่าสงสัยหรือไม่รู้จัก หรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ใช้แอปยืนยันตัวตนแทน SMS OTP เช่น Google Authenticator หรือ Authy
- ตั้งค่ารหัส PIN สำหรับซิมการ์ด เพื่อป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
- หากพบพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น สัญญาณโทรศัพท์หายไปนานผิดปกติ ให้ติดต่อผู้ให้บริการทันที
สรุป
SIM Swap Fraud เป็นภัยคุกคามที่มีอยู่จริง แต่ไม่ได้มีลักษณะเหมือนในข้อความที่มีการส่งต่อกัน มิจฉาชีพไม่สามารถเปลี่ยนซิมได้เพียงแค่เหยื่อกดปุ่ม “1” การเปลี่ยนซิมต้องมีการยืนยันตัวตนจากผู้ให้บริการเครือข่าย