
เมื่อเร็วๆ นี้ มีวิดีโอไวรัลของปลาชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะประหลาด โดยมีส่วนหัวที่ดูเหมือนเขาหรือส่วนงวง สร้างความสงสัยแก่ผู้คนว่าเป็นภาพของปลาจริงหรือภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เราได้รับเบาะแสผ่านทาง LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา โดยวิดีโอดังกล่าวได้มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์ม LINE พร้อมข้อความว่า
“หาดูไม่ง่าย “กุญชรวารี” (ช้างน้ำ ตัวท่อนบนเป็นช้าง ท่อนล่างเป็นปลา..สัตว์หิมพานต์) ปรากฏให้เห็นจริงๆแล้ว…”
นอกจากนี้ เรายังพบวิดีโอดังกล่าวพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม Facebook เช่นเดียวกัน โดยผู้ใช้บางส่วนได้ระบุว่าปลาชนิดดังกล่าวคือ “ปลางวงช้าง”
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือค้นหาภาพกลับ (Reverse Image Search) ไม่มีผลการค้นหาที่เชื่อมโยงภาพนี้กับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือแสดงให้เห็นว่าปลาเหล่านี้เป็นชนิดปลาที่มีอยู่จริง การตรวจสอบฐานข้อมูลปลาที่น่าเชื่อถือ เช่น FishBase ก็ไม่พบข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพปลาเหล่านี้ ทำให้เราเชื่อว่าภาพเหล่านี้อาจไม่ใช่ของจริง นอกจากนี้ ยังไม่พบรายงานข่าวการค้นพบปลาลักษณะดังกล่าวจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือรูปภาพปลาชนิดดังกล่าวในแหล่งที่มาอื่นๆ แต่อย่างใด
และเราได้ลองใช้เครื่องมือตรวจจับรูปภาพและวิดีโอที่สร้างโดย AI เช่น HiveModeration และ HuggingFace โดยได้ผลลัพธ์ตรงกันว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าวิดีโอดังกล่าวจะสร้างขึ้นโดยใช้ AI
“ปลางวงช้าง” ในชีวิตจริง
นอกจากนี้ แม้ “ปลางวงช้าง” จะเป็นชนิดของปลาที่มีอยู่จริง แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากในวิดีโอไวรัลดังกล่าว
โดยปลาที่มีลักษณะพิเศษของจมูกหรือ “งวง” ที่ทำให้ดูเหมือนกับงวงของช้าง ได้แก่
- ปลาช้างแอฟริกา (Gnathonemus petersii): ปลาน้ำจืดชนิดนี้พบได้ในแม่น้ำของทวีปแอฟริกา มันมีจมูกยาวเหมือนงวงช้าง ใช้สำหรับตรวจจับเหยื่อผ่านสนามไฟฟ้า ปลาช้างแอฟริกานิยมเลี้ยงในตู้ปลาเพราะรูปลักษณ์และพฤติกรรมที่น่าสนใจ แต่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงอาหารสดและสภาพน้ำที่เหมาะสม (ที่มา: Fishkeeping World และ Smart Aquarium Guide)
- ปลาช้างออสเตรเลีย (Callorhinchus milii): ปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อปลาช้างเช่นกัน แต่ไม่ใช่ฉลามจริงๆ เป็นปลากระดูกอ่อนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับฉลาม มีลักษณะจมูกยื่นออกมาคล้ายงวงช้าง พบได้ในน่านน้ำลึกแถบออสเตรเลียตอนใต้และนิวซีแลนด์ (ที่มา: iNaturalist)
สรุป
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เราสามารถสรุปได้ว่าวิดีโอของ “ปลางวงช้าง” ที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดย AI หรือการตัดต่อ ไม่ใช่ปลาที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แม้จะมีปลาบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายมีงวง แต่ก็แตกต่างจากภาพในวิดีโอไวรัลอย่างชัดเจน

Title:วิดีโอ “ปลางวงช้าง” ที่เป็นไวรัล สร้างขึ้นโดยใช้จาก AI
Fact Check By: Cielito WangResult: False