หลังจากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และประกาศจัดทำ MOU กับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันครบรอบการทำรัฐประหาร นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย และต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม ก็มีการโพสต์ข้อกล่าวอ้างว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์ชาติจนถึงปี 2570

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ชาติ และมีอำนาจเหนือรัฐบาลและเหนือนายกคนใหม่ จนถึงปี พ.ศ. 2570 โดยระบุในโพสต์ว่า:

“#ThailandToStrong 👍🇹🇭💪

#ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะกรรมการ วางรากฐานโครงสร้างเพื่ออนาคตลูกหลานไทย 2561-2580 มีลุงตู่เปนประธาน ควบคุมรัฐบาลชุดต่อๆไปจ้ะ!

#ลุงตู่ทำต่อไม่รอล้ะน้ะ!

#มาเหนือเมฆ ✌️🇹🇭💙

ลุงตู่มีอำนาจเต็ม เหนือกว่านายกคนใหม่สะด้วย ถ้านายกไม่ปฎิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สามารถส่งเรื่องให้ ปปช สอยได้เลย เเละสามารถยุบการบริหารงานของรัฐบาลได้ทั้งหมด ที่ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของประธานยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่2566-2570 อ่านแล้ว เคลียใจจัง

แก้ไข ได้ แต่ยกเลิก ไม่ได้”

Source | Archive

โดยโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ไปแล้วกว่า 20 ครั้ง ในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงหลังโพสต์

นอกจากนี้เรายังพบข้อกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันที่โพสต์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม โดยระบุว่า:

“ราชกิจจานุเบกษา

ประกาศแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติ ในปี 2566 -2570

ประธานยุทธศาสตร์ชาติ หมายถึง

#อำนาจเต็มเหนือรัฐบาล!!

#ควบคุมให้ทำงานตามที่วางยุทธศาสตร์ไว้

#ครม.#นายก #กรมต่างๆ

#ฝ่าฝืนมีโทษหนักถึงขั้นพ้นตำแหน่ง

#ถือเป็นปรปักษ์ต่อยุทธศาสตร์ชาติ”

Source | Archive

และข้อความดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายบนเฟซบุ๊กอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง และอาจชวนให้เข้าใจผิดได้

ข้อเท็จจริง: พลเอกประยุทธ์เป็นประธานโดยตำแหน่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม Voice TV ได้รายงานข่าวกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่โลกโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยมีอำนาจเต็มเหนือรัฐบาล ควบคุมการทำงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ หากฝ่าฝืนมีโทษถึงขั้นพ้นตำแหน่ง

โดย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศตามที่ มีการเสนอบนสื่อออนไลน์ เป็นเพียงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น”

นอกจากนี้ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวกับ AFP ประเทศไทยว่า บทบัญญัติในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระบุว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติประกอบด้วย “(1.) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

ดังนั้นจึงหมายความว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็จะได้เป็นตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั่นเอง

นอกจากนี้ ภาพที่แนบอยู่ในโพสต์ที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นภาพคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ‘หลังตั้งรัฐบาลใหม่’ ก็เป็นภาพจากบัญชีทวิตเตอร์ของ iLaw ที่โพสต์ตั้งแต่เมื่อปี 2562

Archive

และประกาศที่แนบอยู่ในโพสต์ที่มีการแชร์ต่อกันนั้น เป็นเพียงประกาศการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้มีข้อความใดที่ระบุว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นประธานกรรมการจนถึงปี 2570 แต่อย่างใด (อ่านประกาศที่นี่)

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนการพัฒนาประเทศ ที่จะกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หรือตามคติพจน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยมีระยะเวลาบังคับนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579

ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับสรุปย่อ ที่เผยแพร่ต่อประชาชน มีการแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน คือ

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

(ที่มา: iLaw)

โดย Professor Arturo Bris ผู้อำนวยการศูนย์ IMD World Competitiveness Center ได้แสดงความกังวลเมื่ออันดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยประเทศไทยตกลง 2 อันดับ เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 โดยระบุว่า สิ่งที่กังวลมากกว่าอันดับที่ปรับตัวลงของไทย คือปัจจัยชี้วัดส่วนใหญ่ที่ร่วงลงมาจากจุดที่ค่อนข้างดี มาถึงอันดับกลางตาราง เมื่อย้อนดู 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีแรกที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (ที่มา: BBC Thai)

‎‎ ‎‎‎ ‎ ‎

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:ข้อกล่าวอ้าง “ประยุทธ์เป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติถึงปี 70” ชวนให้เข้าใจผิด”

Written By: Cielito Wang

Result: Misleading