
คำเตือน: บทความนี้มีวิดีโอที่แสดงออกถึงความรุนแรง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งล่าสุดได้ดำเนินมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว และในขณะที่สถานการณ์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น เราพบข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่ามีเหตุการณ์พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีปาเลสไตน์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีวิดีโอแพร่กระจายพร้อมข้อกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์การพยายามลอบสังหารนาย Mahmoud Abbas ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ โดยมีหน่วยอารักขาเสียชีวิต 1 ราย
โดยเราพบวิดีโอพร้อมข้อกล่าวอ้างดังกล่าวแพร่กระจายทั้งบน Facebook และ X (Twitter)

โดยล่าสุดวิดีโอเดียวกันพร้อมข้อกล่าวอ้างในภาษาอังกฤษมีการรับชมไปแล้วกว่าสามล้านครั้ง
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้โปรแกรม Invid – WeVerify เพื่อวิเคราะห์คีย์เฟรมจากวิดีโอ จากนั้นใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search เพื่อค้นหาที่มาของวิดีโอ และเราพบบทความจาก The Palestine Chronicle และ France 24 ที่ได้ตรวจสอบและหักล้างข้อกล่าวอ้างข้างต้น
อ้างอิงจากเว็บไซต์ France 24 วิดีโอดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ระหว่างที่ตำรวจบุกค้นผู้ค้ายาเสพติดในค่ายผู้ลี้ภัย Jalazone ตั้งอยู่บริเวณ Ramallah ในเขต West Bank โดย Khabar24 สื่อท้องถิ่นในปาเลสไตน์ได้เผยแพร่คลิปและรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวไว้บนเพจ Facebook
โดยในเวลาถัดมา Talal Dweikat โฆษกของกองกำลังความมั่นคงปาเลสไตน์ก็เผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า “สมาชิกกองกำลังความมั่นคงปาเลสไตน์ 6 คนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งรวมถึง 1 คนอาการสาหัส ในระหว่างการบุกค้นบุคคลที่ต้องการตัวในคดียาเสพติด”
ดูโพสต์แถลงการณ์จากโฆษกกองกำลังความมั่นคงปาเลสไตน์ได้ด้านล่างนี้
Source: FRANCE 24 English
สรุป
วิดีโอที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียพร้อมข้อกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุการณ์พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีปาเลสไตน์นั้น เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด มีการยืนยันแล้วว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ขณะตำรวจจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในค่ายผู้ลี้ภัย Jalazone ที่ตั้งอยู่ใน Ramallah ที่เขตตะวันตกของ West Bank
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง
Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Title: วิดีโอไวรัลเหตุการณ์พยายามลอบสังหารปธน.ปาเลสไตน์ เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด
Written By: Cielito WangResult: Misleading