ประเทศไทยประกาศผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเมื่อปีที่แล้ว แต่สัดส่วนการสวมหน้ากากของคนไทยก็ยังคงไม่บางตาลงเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ปิด เช่น ในห้าง บนรถไฟฟ้า บนเครื่องบิน และในขนส่งมวลชนต่างๆ นอกเหนือจากเหตุผลด้านการป้องกันการติดเชื้อโควิดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเลือกสวมหน้ากากอนามัยอยู่ก็คือปัญหามลภาวะ หรือฝุ่น PM 2.5 นั่นเอง ยิ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ปริมาณฝุ่นในอากาศมากยิ่งขึ้น โดยค่าดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI (Air Quality Index) ในกรุงเทพฯ และในบางจังหวัดจัดอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย และเข้าสู่ระดับอันตรายในหลายครั้ง ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพตื่นตัวเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้ เราพบว่ามีข้อความที่ต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัยแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งบนเฟซบุ๊ก และส่งต่อกันผ่านไลน์ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้อ่านได้

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีข้อความส่งต่อกันบนโซเชียลมีเดีย ที่กล่าวอ้างถึงอันตรายของการสวมหน้ากากอนามัย โดยระบุว่า

“# สวมหน้ากาก = ตายผ่อนส่ง

.

เคยสังเกตร่างกายตัวเองกันบ้างไหม ว่าเหนื่อยง่าย ปวดหัวบ่อย นอนไม่ค่อยหลับ ตั้งแต่มีโควิดมา หลายคนเหมารวมว่าเป็นเพราะลองโควิด แต่ไม่มีใครเอะใจเลยสักนิดว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะอะไร

.

พีเอ็น เมดิคัล (PN Medical) องค์กรที่ทำงานวิจัยและพัฒนาสุขภาพทางระบบทางเดินหายใจในสหรัฐฯ มากว่า 40 ปี ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างในวิชาชีพต่าง ๆ ถึงผลกระทบต่อการสวมหน้ากากอนามัย พบว่า การสวมหน้ากากทำให้จังหวะการหายใจเปลี่ยนไป การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายแปรปรวน โดยอาจสังเกตได้จากอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้นโดยเริ่มต้นจากใบหน้า ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจแม้หลังจากถอดออกแล้ว

.

ไม่ว่าจะใช้หน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากผ้า หรือแม้แต่ N95 ก็ตาม ล้วนมีผลให้ระดับออกซิเจนและภาวะความเป็นกรดในเลือดไม่ปกติ ส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมาเช่น อาการปวดหัว มึนงง หายใจไม่เต็มปอด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหน็บชาตามมือและเท้า เป็นต้น

.

การหายใจที่มีคุณภาพ คือการหายใจเต็มปอด เพื่อให้กระบังลมได้ขยายตัวเต็มที่ และเส้นประสาทบริเวณนั้นซึ่งช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้ถูกกระตุ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากยังต้องสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลาทุกวัน

.

อย่างไรก็ดี หากท่านยังจำเป็นต้องใช้หน้ากาก ทางพีเอ็น ก็มีข้อแนะนำให้สูดหายใจให้เต็มปอด 5 ครั้ง ทั้งก่อนการสวม ทันทีที่สวม และหลังจากสวม โดยการหายใจแต่ละครั้ง ให้ทำตามลำดับดังนี้

  • หายใจเข้า 4 วินาทีทางจมูก
  • หายใจออก 6 วินาทีทางปาก
  • หยุดพัก 2 วินาทีก่อนเริ่มครั้งถัดไป

นอกจากนี้พึงเตือนสติให้หายใจยาวและช้ากว่าปกติเสมอตลอดเวลาที่สวมหน้ากาก หากต้องใช้หน้ากากเป็นเวลานาน ควรหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อถอดหน้ากากและฝึกหายใจตามข้างต้นเป็นระยะ

.

ร่างกายมนุษย์ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับการสวมหน้ากากอนามัยในระยะยาว เราจึงควรใช้เฉพาะเวลาที่ไม่สบาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังคนอื่นเท่านั้น ไม่ควรจะใช้ตลอดเวลา เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยจะไม่ได้ช่วยป้องกันเราจากโควิดแล้ว ยังทำร้ายสุขภาพเราแบบ #ตายผ่อนส่ง อีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pnmedical.com/.../effects-of-wearing-face-mask/

#หน้ากากอนามัยคือสิ่งแปลกปลอม #สวมหน้ากากเท่าที่จำเป็น #โควิดเป็นโรคประจำถิ่น”

Source | Archive

นอกจากโพสต์ข้างต้นแล้ว เรายังพบข้อความเดียวกันแพร่กระจายบนเฟซบุ๊กและไลน์อีกด้วย โดยมีการแชร์ข้อความดังกล่าวเป็นวงกว้างตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

Source | Archive

จากการตรวจสอบข้อความข้างต้น เราพบว่าข้อความดังกล่าวนั้นมีพาดหัวและเนื้อหาบางส่วนที่ชวนให้เข้าใจผิด และงานวิจัยที่แนบมาในข้อความก็ไม่ได้ต่อต้านการสวมหน้ากากแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้ทำการตรวจสอบงานวิจัยในข้อความที่กล่าวอ้าง โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสวมหน้ากากอนามัย ทางสถาบัน PN Medical จึงต้องการเผยแพร่วิธีหายใจที่ถูกต้องขณะสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ จากการสวมหน้ากากเป็นเวลานาน ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อชี้นำให้ผู้คนเลิกสวมหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด

โปสเตอร์สอนวิธีการหายใจอย่างถูกต้องขณะสวมหน้ากากอนามัยจาก PN Medical

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ได้เผยแพร่บทความเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสวมหน้ากากเป็นเวลานานๆ เช่นเดียวกัน โดยอ. นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ได้อธิบายว่า การสวมหน้ากากแบบผ้าหรือหน้ากากอนามัยไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เนื่องจากหน้ากากทั้ง 2 ชนิด สามารถสวมได้ตลอดเวลาที่ทำกิจวัตรประจำวัน ส่วนหน้ากากแบบ N95 ซึ่งเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม เป็นหน้ากากที่ต้องสวมแบบแนบสนิทใบหน้า จึงอาจทำให้ระบายอากาศได้ยาก และต้องออกแรงหายใจมาก จึงควรสวมหน้ากาก N95 ขณะปฏิบัติงานที่ต้องใช้หน้ากาก N95 โดยเฉพาะเท่านั้น เนื่องจากการสวมหน้ากาก N95 เป็นเวลานาน อาจทำให้เวียนศีรษะหรือมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูง แต่ไม่ทำให้ขาดออกซิเจน

ส่วนข้อความที่กล่าวอ้างว่า การสวมหน้ากากเป็นเวลานานๆ ทำให้เลือดเป็นกรดนั้น อ.ธิติวัฒน์ได้ชี้แจ้งแล้วว่า ไม่เป็นความจริง การใส่หน้ากากอนามัยเป็นวลานานนั้นเป็นไปได้ยากมากที่จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากร่างกายมีการหายใจเข้า-ออกอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดต่างในเลือด (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

นอกจากนี้ อ้างอิงจาก Health Feedback ที่ชี้แจงถึงข้อกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกับข้อความที่เผยแพร่ข้างต้น โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอที่สามารถยืนยันได้ว่าการสวมหน้ากากนั้นไม่มีประสิทธิภาพและทำให้อายุสั้นลง

สรุป

ข้อกล่าวอ้างข้างต้นนั้นชวนให้เข้าใจผิด ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าการสวมหน้ากากอนามัยนั้นทำให้อายุสั้นลง และงานวิจัยที่แนบมาในข้อกล่าวอ้างนั้นมีจุดประสงค์เพื่อสอนวิธีหายใจที่ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ขณะสวมหน้ากากเท่านั้น และไม่ได้ระบุว่าการสวมหน้ากากจะทำให้อายุสั้นลงแต่อย่างใด

Avatar

Title:สวมหน้ากากอนามัย = ตายผ่อนส่ง จริงหรือไม่? อ่านข้อเท็จจริงได้ที่นี่

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading