คำเตือน: มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง, การเปิดเผยทางด้านเพศ (Sexual Explicit)

วันที่ 10 พ.ค.2566 เวลาประมาณ 19.00 น. กลุ่มมวลชนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองกว่า 20 คน พยายามจะเข้าไปใน สน.สำราญราษฎร์ เพื่อทวงถามและร้องขอความเป็นธรรมให้กับเยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกคุมขังในสถานพินิจบ้านปรานี จ.นครปฐม ในคดีมาตรา 112 หลังทราบว่าตำรวจสั่งแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับเยาวชน ในข้อหาความผิด ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โดยกลุ่มมวลชนเกิดความไม่พอใจ จึงบุกเข้าไปด้านใน พร้อมกับทุบกระจกประตูทางเข้าสถานีตำรวจแตกเสียหาย และนำสีน้ำมันสาดใส่ตามบันไดทางเดินและกำแพงของโรงพัก พร้อมกับสีสเปรย์พ่นตามกำแพง พื้นและรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนได้รับความเสียหาย ต่อมาตำรวจได้ควบคุมตัว แกนนำทั้ง 9 คน อาทิ น.ส.ทานตะวัน หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ หรือ แบม ก่อนตำรวจจะนำตัว แยกไปคุมขังที่ สน.ลาดกระบัง สน.ฉลองกรุง และ สน.ทุ่งสองห้อง โดยแต่ละที่มีตำรวจคุมกันอย่างแน่นหนา (อ่านข่าวที่นี่)

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ จนแฮชแท็ก #ม็อบ10พฤษภา66 มีการพูดถึงไปแล้วเกือบสี่แสนครั้ง และอยู่อันดับที่สองในเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้แชร์ภาพวิดีโอขณะที่ตะวันและแบมถูกจับกุม พร้อมข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าตะวันได้พูดว่า แบมโดนตำรวจถอดเสื้อผ้าและถ่ายภาพไว้ โดยทวีตดังกล่าวมีการรับชมไปแล้วกว่า 2.2 ล้านครั้ง และรีทวีตต่อกว่าแปดหมื่นครั้ง

Archive

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ของสำนักข่าว ข่าวสด ก็โพสต์วิดีโอดังขณะตะวันและแบมถูกควบคุมตัวไป พร้อมข้อความกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกัน

Archive

อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการตรวจสอบ เราพบว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้ดำเนินการตรวจสอบวิดีโอดังกล่าว และพบว่าจริงๆ แล้ว ตะวันได้ตะโกนว่า “แบมแก้ผ้า แล้วมันก็ถ่ายแบมไป” ไม่ได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายถอดเสื้อผ้าของแบมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาทวีตชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า

ทนาย ได้รับการชี้แจงข้อเท็จเรื่องการแก้ผ้าของแบม โดยแบมเปิดเผยว่า เนื่องจากตนและเพื่อนๆ ถูกยึดโทรศัพท์ และ ตร.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและเหตุผลในการจับกุมตัว . แบมจึงได้ทำการแก้ผ้าทั้งตัว เพื่อแสดงอารยะขัดขืน โดยมีเจ้าหน้าที่ คฝ.หญิง ถ่ายคลิปวีดิโอตอนเธอแก้ผ้า

อย่างไรก็ตาม ในทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่ามีการบันทึกภาพขณะแบมถอดเสื้อผ้านั้นโดยยืนยันว่าไม่มีการบันทึกวิดีโอไว้ (อ่านข่าวที่นี่)

แม้กรณีการถ่ายภาพแบมจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนนักในขณะนี้ แต่ผู้ใช้โซเชียลต่างแสดงความไม่พอใจในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการที่เกินกว่าเหตุ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยว่า กลุ่มมวลชนบางรายได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ให้ทนายเข้าพบบังเอิญ หนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหว และประชาชนอีก 2 ราย โดยอ้างว่าต้องการรอให้ทนายของผู้ถูกจับกุมมาพร้อมกันก่อน ซึ่งศูนย์ทนายความฯ ได้ระบุว่า เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาในการพบทนายความ โดยไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าต้องรอให้ทนายของผู้ต้องหามาครบทุกคนก่อน ถึงทนายจะเข้าถึงตัวผู้ต้องหาได้

อาการบาดเจ็บของตะวันและแบมจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สรุป

จากเหตุการณ์ม็อบของตะวันและแบม ในวันที่ 10 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ได้มีการเข้าควบคุมตัวแบม ตะวัน และกลุ่มมวลชนรายอื่นๆ มีข้อความเผยแพร่ว่าแบมถูกตำรวจจับถอดเสื้อผ้า แต่จริงๆ แล้ว แบมถอดเสื้อผ้าเพื่อเป็นอารยะขัดขืนต่อการจับกุม

Avatar

Title:ม็อบ10พฤษภา66: ศูนย์ทนายความฯ ชี้แจง แบมถอดเสื้อผ้าเพื่อเป็น “อารยะขัดขืน” ต่อการจับกุม

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading