
จากที่มีการแชร์ข้อความพร้อมวิดีโอในไลน์ และโซเชียลต่างๆ โดยอ้างว่าการทำท่าก้มหัวตามคลิปวิดีโอดังกล่าวจะสามารถเช็กความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้ โดยคลิปลักษณะดังกล่าวถูกแชร์อย่างกว้างขวาง

Source: Line | Archive
โดยคลิปลักษณะดังกล่าวอ้างว่าการเป็นตรวจเช็กอาการหลอดเลือดตีบที่สมอง ซึ่งไม่สามารถตรวจเจอได้ในแพทย์แผนปัจจุบัน และอธิบายในคลิปว่า หากก้มหัวไปแล้วมีอาการเวียนหัว หูอื้อ แน่นจมูก หรือปวดเบ้าตาแปลว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
Fact Crescendo พบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และอาการเวียนหัว หูอื้อ แน่นจมูก หรือปวดเบ้าตาที่อาจจะเกิดเมื่อทำท่าที่อ้างในคลิปนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติเมื่อคนเราก้มหัวเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งระยะเวลาที่อาจเกิดอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของการก้มหัวและอาการเส้นเลือดในสมองตีบ และพบแหล่งข่าวหลายแห่งที่ยืนยันว่าคลิปดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ โดยทางสำนักข่าวไทยได้เข้าไปสัมภาษณ์นายแพทย์ธน ธีระวรวงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษด้านประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ซึ่งได้ยืนยันท่าก้มหัวในคลิปนั้นไม่สามารถใช้เช็กความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดตีบในสมองได้ และอาการที่อ้างถึงในคลิปว่าอาจเป็นสัญญาณของโรคได้ จริงๆ แล้วเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติเมื่อเราก้มหัว และท่าก้มหัวในคลิปนั้นไม่สามารถใช้เช็กอาการใดๆ เกี่ยวกับสมองได้
โดยหากต้องการเช็กว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางสมองหรือไม่ ก็ทำได้โดยการเข้ามาตรวจร่างกายและระบบประสาท ซึ่งสามารถคัดกรองโรคทางสมองได้ค่อนข้างมากแล้ว และหากต้องการตรวจแบบเฉพาะ ก็สามารถตรวจโดยการเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไป นอกจากนี้ นายแพทย์ธนยังเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการโรคหลอดเลือดทางสมองที่ควรสังเกตว่า หากมีอาการ พูดไม่ออกหรือพูดไม่ชัดทันทีทันใด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หรือสูญเสียการทางตัวกะทันหัน ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สรุป
การทำท่าทางก้มหัวแบบในคลิปไม่ได้ช่วยเช็กอาการหลอดเลือดในสมองตีบ หรือโรคอื่นๆ เกี่ยวกับสมองแต่อย่างใด ทางที่ดีควรเฝ้าระวังอาการที่ควรสังเกตตามที่แนะนำข้างต้น และหากสงสัยว่าจะความเสี่ยงด้านโรคเกี่ยวกับสมอง ควรเข้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ

Title:ทำท่าก้มหัวไม่ได้ช่วยเช็กความเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมองตีบ
Fact Check By: Cielito WangResult: False