ข่าวลือ “มิน-พีชญา” เสียชีวิต เป็นข้อมูลเท็จ

False Social

ในช่วงที่ผ่านมา มีกระแสข่าวลือแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียว่า “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” อดีตนักแสดงสังกัดช่อง 7 ได้เสียชีวิตแล้ว โดย ข่าวลือนี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย สร้างความสงสัยและความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเป็นวงกว้าง

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้ TikTok ได้โพสต์วิดีโอไว้อาลัย “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” พร้อมข้อความในวิดีโอระบุว่า “เผย สาเหตุบอสมินเสีย หลังโดนทางการยึดทรัพย์สินเพิ่ม ญาติคาดเครียดจากการโดนกลั่นแกล้ง เพราะเงินส่วนนี้ เป็นเงินที่มินได้มาจากการลงทุนแบบถูกกฎหมายทุกอย่าง” โดยวิดีโอดังกล่าวมีการรับชมไปกว่า 5 ล้านครั้ง

ที่มา | ลิงก์ถาวร

โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายต่างออกมาแสดงความสงสัยเกี่ยวกับข่าวลือดังกล่าว

A screenshot of a video chat

Description automatically generated

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

สื่อหลักและแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ: จากการตรวจสอบเพิ่มเติม เราไม่พบรายงานใด ๆ จากสื่อหลักและแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ที่ยืนยันการเสียชีวิตของมิน พีชญา วัฒนามนตรี รวมถึงไม่มีการแถลงข่าวใดๆ จากทางต้นสังกัดหรือทางครอบครัวของนักแสดง

รายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับมิน: มิน พีชญา เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 หลังอัยการพิเศษสั่งไม่ฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับ The ICON Group (ที่มา) หลังจากถูกควบคุมตัวไปสอบสวนและนำตัวไปฝากขังเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา (ที่มา) โดยหลังจากได้รับการปล่อยตัว แม่ของนักแสดงสาวก็ได้โพสต์รูปภาพในบัญชี Instagram ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ทั้งมินและครอบครัวไม่ได้มีการอัปเดตผ่านทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพิ่มเติม หลังจากมีกรณีพัวพันกับคดี The ICON Group

นอกจากนี้ สำนักข่าว Thaiger และธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้สื่อข่าวจากช่อง PPTV ได้ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวปลอม เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีข่าวลือว่า กันต์ กันตถาวร หนึ่งในหุ้นส่วน The ICON Group ได้เสียชีวิตในเรือนจำ ซึ่งสำหรับข่าวดังกล่าว ทางราชทัณฑ์ก็ออกมายืนยันว่า ไม่เป็นความจริง

จากการวิเคราะห์พบว่า ข่าวลือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของมินมีลักษณะคล้ายกับกลยุทธ์ที่เว็บไซต์พนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ที่ต้องการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์มักใช้กัน โดยวิธีการนี้เรียกว่า “คลิกเบต (Clickbait)” หรือการสร้างหัวข้อข่าวที่น่าตกใจเพื่อล่อให้คนคลิกเข้าไปอ่าน เมื่อเข้าไปแล้ว ผู้ใช้มักพบโฆษณาหรือลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าวสารจริง ซึ่งในกรณีนี้ ข่าวลืออาจถูกสร้างขึ้นโดยการใช้ข้อมูลที่อยู่ในกระแสเพื่อดึงดูดความสนใจ เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สรุป

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข่าวลือที่ว่า “มิน พีชญา วัฒนามนตรี” เสียชีวิตนั้นเป็นเท็จ ไม่มีข่าวหรือรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือใดๆ ที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว และมีแนวโน้มสูงว่าเป็นการสร้างข้อมูลเท็จโดยเว็บไซต์พนันออนไลน์หรือกลุ่มที่หวังผลประโยชน์จากการเพิ่มยอดเข้าชม

Avatar

Title:ข่าวลือ “มิน-พีชญา” เสียชีวิต เป็นข้อมูลเท็จ

Fact Check By: Cielito Wang 

Result: False

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *