
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ระบุว่า “ราชกิจจาฯ ประกาศให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิต ทายาทจะได้ 30,000 บาท จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” โดยข้อความนี้ได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและได้รับความสนใจอย่างมาก
ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย
ได้รับเบาะแสจากผู้ใช้ ผ่าน LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา เกี่ยวกับข้อความที่มีการแชร์กันอย่างกว้างขวาง ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้ทายาทของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตสามารถรับเงิน 30,000 บาทเป็นค่าทำศพจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเนื้อหาดังกล่าวอ้างว่าการประกาศนี้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือทายาทในการจัดการศพตามประเพณี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน
โดยเราพบว่าข้อความดังกล่าวได้แพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม Facebook อย่างกว้างขวางด้วยเช่นเดียวกัน
ส่งข้อมูลหรือเบาะแสให้เราช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ที่นี่
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อความที่แพร่กระจายผ่านโซเชียลมีเดียที่อ้างว่า “ราชกิจจาฯ ประกาศให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิต ทายาทจะได้ 30,000 บาท” เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงคือในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเรื่อง “การสนับสนุนการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจนให้สามารถจัดการศพได้ตามประเพณี อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่มอบให้จริงคือ 3,000 บาทต่อราย ไม่ใช่ 30,000 บาทตามที่มีการแชร์บนโซเชียลมีเดีย
การสนับสนุนนี้ดำเนินการภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาชัดเจน โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขดังนี้:
- อายุ 60 ปีขึ้นไป และถือสัญชาติไทย
- เป็นผู้สูงอายุที่มีสถานะทางการเงินยากจน และต้องอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุของรัฐ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครอง หรือสถานพัฒนาสวัสดิการสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ เงินสงเคราะห์นี้ไม่ได้ให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่เสียชีวิต แต่จะมอบให้ในกรณีที่ญาติหรือผู้รับผิดชอบการจัดการศพได้ยื่นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องภายใน 6 เดือนหลังจากการเสียชีวิต โดยต้องมีการแสดงเอกสารที่จำเป็น เช่น ใบมรณบัตรของผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ พร้อมข้อมูลบัญชีธนาคารสำหรับการโอนเงิน
ขั้นตอนการยื่นคำขอเงินสงเคราะห์ในการจัดการศพ
- ครอบครัวหรือญาติของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตสามารถยื่นคำขอเงินสงเคราะห์ได้ในพื้นที่ที่ผู้เสียชีวิตมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่สะดวก
- ผู้ยื่นคำขอต้องจัดเตรียมเอกสารที่ระบุไว้ เช่น ใบมรณบัตรของผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเอกสารแสดงสิทธิ์อื่นๆ รวมถึงบัตรประจำตัวประชาชนและบัญชีธนาคารของผู้ยื่นคำขอ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ทางกรมกิจการผู้สูงอายุได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า ไม่มีการประกาศหรือระเบียบข้อบังคับใดๆ ที่ระบุให้ทายาทของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตได้รับเงินจำนวน 30,000 บาทตามที่มีการอ้างในโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
สรุป
จากการตรวจสอบพบว่า ข้อความที่ระบุว่าทายาทของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจะได้รับเงิน 30,000 บาทจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นไม่เป็นความจริง โดยจำนวนเงินที่ถูกต้องคือ 3,000 บาทเท่านั้น โดยเงินที่จะมอบให้แก่ทายาทนี้เป็นการสนับสนุนเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและผ่านการขอรับสิทธิ์โดยครอบครัวหรือญาติเท่านั้น

Title:พม. ให้เงินช่วยเหลือแก่ทายาผู้สูงอายุ 3,000 บาท ไม่ใช่ 30,000 บาท
Fact Check By: Cielito WangResult: False