เมื่อเร็วๆ นี้ มีวิดีโอถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย โดยอ้างว่าเป็นภาพเหตุการณ์เวทีรัฐสภาโบลิเวียถล่มกลางที่ประชุมอย่างกะทันหัน และคำอธิบายที่อ้างว่าเกิดจากแผ่นดินไหว ทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์จริง แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเราพบว่า คลิปนี้เป็นวิดีโอที่สร้างขึ้นด้วย AI
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
เราได้รับเบาะแสจากผู้ใช้ผ่านทาง LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา ว่ามีวิดีโอหนึ่งที่กำลังเป็นไวรัล ซึ่งแสดงภาพห้องประชุมที่ดูเหมือนเป็นรัฐสภา และผนังด้านหลังพังถล่มลงมา สร้างความวุ่นวายภายในห้องอย่างฉับพลัน พร้อมข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐสภาโบลิเวีย และเชื่อมโยงกับเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศ
พบข้อมูลน่าสงสัย? ส่งให้เราตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ที่นี่
โดยจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าวิดีโอดังกล่าวได้แพร่กระจายบยแพลตฟอร์ม Facebook ด้วยเช่นเดียวกัน
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
แผ่นดินไหวล่าสุดในโบลิเวีย
เว็บไซต์ Earthquaketrack.com รายงานว่าเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2025 โบลิเวียเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.4 แมกนิจูด ซึ่งจัดว่าเป็นระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานความเสียหายต่ออาคาร หรือเหตุการณ์ถล่มใดๆ ที่เกิดขึ้นตามมา
นอกจากนี้ ไม่มีสื่อกระแสหลัก หน่วยงานภาครัฐ หรือทีมกู้ภัยในโบลิเวียรายงานหรือยืนยันว่ามีเหตุการณ์รัฐสภาพังถล่มตามที่ปรากฏในวิดีโอแต่อย่างใด
การวิเคราะห์วิดีโอ
จากการพิจารณาอย่างละเอียด วิดีโอดังกล่าวมีลักษณะหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า ไม่ได้เป็นภาพเหตุการณ์จริง แต่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี AI เช่น การปรากฏตัวผิดธรรมชาติของบุคคลในภาพ โดยขณะที่ผนังกำลังถล่มลง มีบุคคล 2-3 คนปรากฎขึ้นมาภายในเฟรม ตามจุดที่ระบุในภาพด้านล่าง ซึ่งถือเป็นจุดบกพร่องที่พบบ่อยในวิดีโอที่สร้างด้วย AI
นอกจากนี้ เราตรวจสอบหาที่มาต้นทางของวิดีโอโดยใช้ฟังก์ชันค้นหารูปภาพแบบย้อนกลับ หรือ Reverse Image Search และพบว่า คลิปนี้ถูกโพสต์ครั้งแรกโดยบัญชี TikTok ชื่อ “@animemaniaperuoficial” โดยส่วนข้อมูลใต้คลิปดังกล่าวได้มีการระบุชัดเจนว่าเป็น “AI-Generated” หรือ “สร้างด้วย AI”
บัญชี TikTok ดังกล่าวนี้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างวิดีโอจำลองภที่เหมือนจริงโดยใช้ AI ครีเอเตอร์รายนี้มีประวัติการอัปโหลดวิดีโอที่สร้างด้วย AI แสดงภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองในสถานการณ์ภัยพิบัติที่ไม่เป็นความจริง โดยนอกเหนือจากวิดีโอรัฐสภาโบลิเวียแล้ว ครีเอเตอร์รายดังกล่าวยังได้โพสต์วิดีโอจำลองเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายคลิป เช่น แผ่นดินไหวในรัฐสภาเปรู และ แผ่นดินไหวในสภาเวเนซุเอลา เป็นต้น
สรุป
วิดีโอไวรัลที่อ้างว่า “รัฐสภาโบลิเวียถล่มจากแผ่นดินไหว” เป็นวิดีโอที่สร้างขึ้นด้วย AI ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่าไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นกับอาคารรัฐสภาโบลิเวีย แม้จะมีแผ่นดินไหวขนาด 5.4 ในเดือนกรกฎาคมก็ตาม