เฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ย่อยใหม่ แพทย์ชี้มีแนวโน้มเข้าไทยเร็วๆ นี้

COVID-19 Explainer Health International

แม้จะดูเหมือนว่าทั่วโลกต่างเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่ก็มีรายงานถึงการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากถือเป็นภัยครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมาและในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความกังวลเนื่องมาจากโรงพยาบาลในกรุงปักกิ่งและเมืองอื่นๆ เต็ม จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในจีน วิดีโอที่น่าสลดใจของสถานการณ์ที่เลวร้ายในประเทศจีนกำลังเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย

เมื่อไวรัสมีวิวัฒนาการไปตามเวลาและมีความแตกต่างจากไวรัสตัวดั้งเดิมอย่างมาก จะเรียกไวรัสที่วิวัฒนาการใหม่ว่าเป็น ‘สายพันธุ์’ ใหม่ สำหรับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสตัวดั้งเดิมของ COVID-19 ก็มีการเปลี่ยนแปลงและได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของสายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ย่อย

ปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อยของ Omicron มากกว่า 300 สายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วโลก และเกือบ 75% เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5 ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

มาทำความเข้าใจและดูข้อควรรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น

สายพันธุ์ย่อย BF.7

สายพันธุ์ล่าสุดที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นนั้นเรียกว่า BF.7 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้สูง โดยมีความสามารถในการเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้สูงกว่า แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

อาการของตัวแปรย่อย BF.7 ใหม่นั้นคล้ายกับไข้หวัดทั่วไปและรวมถึงไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดตามตัว ปวดท้อง เป็นต้น โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รักษาสุขอนามัยที่เหมาะสม สวมหน้ากาก ล้างมือ และป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BF.7 ได้มากกว่า พวกเขาต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและอาจต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

TNN Online ได้รายงานการพบสายพันธุ์ย่อย BF.7 เมื่อ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจยังรายงานถึงความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวในจีน โดยระบุว่า Leung K และคณะจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

ประเมินว่าการระบาดในจีนระลอกล่าสุดจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BF.7 นั้นมีความหนักหน่วงมาก

โดยดูได้จากค่า Rt ที่บ่งถึงสมรรถนะการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อน ที่สูงถึง 3.42 (หากสถานการณ์ระบาดที่ค่า Rt สูงกว่า 1 จะบ่งถึงการระบาดที่จะมีแนวโน้มขยายวงมากขึ้น ยิ่งค่านี้สูง ยิ่งแปลว่าระบาดหนัก แต่หากค่า Rt น้อยกว่า 1 แปลว่าการระบาดจะลดลงและน่าจะอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้)

คณะผู้วิจัยยังทำการประเมินว่า ณ กลางเดือนธันวาคม 2565 อาจมีประชากรที่ติดเชื้อไปราว 42.5% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 20.3%-63.9%)

สื่อมวลชนต่างประเทศ ทั้ง BBC, The Guardian, Reuters และอื่นๆ ได้รายงานว่าโรงเรียนในกรุงปักกิ่งก็มีประกาศให้ปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตั้งแต่ 19 ธันวาคมเป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์ระบาดที่หนัก ในขณะที่บางสื่อก็ได้มีการนำเสนอเรื่องปัญหาจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีมากขึ้น และปัญหาเรื่องการจัดการศพผู้เสียชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการระบาดนั้นหนักมากทีเดียว

สายพันธุ์ย่อย XBB

ในทางเทคนิคแล้ว XBB เป็นการรวมขึ้นใหม่ระหว่างของสองสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเวอร์ชัน BA.2 สองสายพันธุ์ ซึ่งมีอัตราการแพร่ทั่วโลก 1.3% และตรวจพบใน 35 ประเทศ

XBB ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนนั้นเป็นสายพันธุ์หลักที่ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นในสิงคโปร์ และในอินเดียก็พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB อย่างน้อย 18 เคส ในรัฐมหาราษฏระเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อ้างอิงจาก WHO เกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 (TAG-VE) หลักฐานชั้นต้นชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อย XBB มีความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำสูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของโอมิครอนที่ยังคงมีการระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่า แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า

เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวปลอมใน WhatsApp ที่สร้างความตื่นตระหนกด้วยการอ้างว่าโอมิครอน สายพันธุ์ XBB นั้นรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้าและมีอัตราการตายสูงกว่าถึงห้าเท่า โดยกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้ออกมาปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว”

นอกจากนี้ WHO ยังกล่าวว่าข้อมูลปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ว่าความรุนแรงของโรคในการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นมากนัก

จากข้อมูลของ University of Washington’s Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) สายพันธุ์โอมิครอนรวมถึงสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ในปัจจุบันยังคงรุนแรงน้อยกว่าการแพร่ระบาดของโควิดครั้งก่อนถึง 10 เท่า

ข้อควรระวังเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่และการระบาดในไทย

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้สูงอายุ โรคปอดและโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อย XBB ไว้ว่า “ประเทศอินเดียเริ่มเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ XBB เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ในประเทศอินเดีย ประเทศไทยเตรียมตัวได้เลยว่า หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 อีกไม่นานก็จะมีสายพันธุ์ XBB แพร่ระบาดเหมือนประเทศอินเดีย เพราะสายพันธุ์ใหม่นี้ติดต่อกันง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม และหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อธรรมชาติได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม” นายแพทย์มนูญ ยังกล่าวแนะนำเพิ่มเติมส่งเสริมให้ผู้คนไปฉีดเข็มกระตุ้นให้ครบ โดยระบุว่า “โชคดีที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักและเสียชีวิตเหมือนสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม คือได้วัคซีนครบ 2 โดสและตามด้วยเข็มกระตุ้นอีก 2 เข็ม”

ข้อสรุปส่งท้าย

สายพันธุ์โอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั่วโลกในปัจจุบัน สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ของโอมิครอนแสดงอาการที่คล้ายคลึงกันเมื่อมีการติดเชื้อ แต่มีความแตกต่างในด้านการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน อาการที่อาจเกิดขึ้นได้ของสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้มักได้รับอิทธิพลจากภูมิต้านทานและอัตราการครอบคลุมของวัคซีนในแต่ละพื้นที่ โดยในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานด้านการระบาดวิทยาว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของโอมิครอน ซึ่ง WHO ระบุว่าการประเมินนี้อิงตามข้อมูลจากประเทศที่มีการเฝ้าระวัง และอาจไม่สามารถใช้ข้อสรุปดังกล่าวกับสถานการณ์หรือพื้นที่อื่นๆ ได้

Avatar

Title:เฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ย่อยใหม่ แพทย์ชี้มีแนวโน้มเข้าไทยเร็วๆ นี้

By: Cielito Wang 

Result: Explainer

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *