ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนถือเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างแสดงความกังวล ด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยนอกจากการปะทะกันทางกองกำลังทางทหารแล้ว การโจมตีด้วยข้อมูลและข่าวปลอมก็ถือเป็นอีกวิธีที่เราพบเห็นได้มากยิ่งขึ้น และล่าสุด มีรูปภาพของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียแต่งกายแบบพระภิกษุแพร่กระจายและเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ได้แชร์ภาพของปูตินในเครื่องแต่งกายแบบภิกษุสงฆ์ พร้อมคำบรรยายในภาพว่า

“ # #เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ ปูติน เคยบวชให้ในหลวง ร.9 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดแห่งหนึ่งใน ธิเบต โดยท่านบวชเป็นจำนวน 3 พรรษา ซึ่งตรงกับ 9 เดือน พอดี

เรื่องนี้มีน้อยคนมากที่รู้ จนมีพระในธิเบตรูปนึงออกมาเปิดเผยเรื่องราวผ่านสำนักข่าว รอยเตอร์โอเว่น ว่าครั้งนึง ประธานาธิบดี ปูติน เคยมาบวชถวายตัวเป็นพุทธมามก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ร.9ด้วยอิริยาบทที่สงบ ประหนึ่งจะตรัสรู้ในวันข้างหน้า

ทั้งนี้เดอะไทม์หนังสือพิมพ์ชื่อดัง ยังได้ออกมาคอนเฟิร์มเรื่องนี้ว่ามีมูลความจริง หลังจากปูติน ได้สำนึกในพระกรุณาธิคุณ เรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สาธุๆ ธ สถิตในดวงใจ”

Source | Archive

โดยโพสต์ดังกล่าวได้มีการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย โดยนอกจากโพสต์ดังกล่าวแล้ว เราพบรูปภาพเดียวกันพร้อมข้อกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันเผยแพร่บนเฟซบุ๊กในหลายๆ โพสต์

เมื่อทีมงานตรวจสอบภาพและข้อความกล่าวอ้างดังกล่าวก็พบว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพตัดต่อ และข้อกล่าวอ้างข้างต้นก็ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้ทำการตรวจสอบหาที่มาของรูปภาพดังกล่าวโดยใช้ฟีเจอร์ค้นหารูปภาพ และพบว่ารูปภาพดังกล่าวนั้นมาจากกลุ่ม “Midjourney Thailand” บนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ใช้ Midjourney ชาวไทยจะมาโพสต์รูปภาพที่ใช้ AI ของแพลตฟอร์ม Midjourney สร้างขึ้น โดยในโพสต์ที่มานั้น นอกจากจะมีภาพของปูตินแล้ว ผู้ใช้รายดังกล่าวก็ยังใช้ Midjourney สร้างรูปภาพของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง โจ ไบเดน ในลักษณะเดียวกันในโพสต์ดังกล่าวอีกด้วย และเนื่องจากรูปภาพดังกล่าวมีการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย ผู้โพสต์จึงเพิ่มข้อความกำกับว่า “ทุกภาพไม่ใช่ภาพจริงนะครับสร้างโดย AI Midjourney” เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดอีกด้วย

Source | Archive

Midjourney เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้สร้างรูปภาพได้โดยใช้ AI โดยแพลตฟอร์มนี้ใช้อัลกอริธึมขั้นสูงและเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อสร้างภาพต่างๆ ตั้งแต่แนวเสมือนจริงไปจนถึงรูปภาพแบบนามธรรม (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Midjourneyได้ที่นี่)

นอกจากผู้ใช้รายนี้จะโพสต์ภาพของผู้นำทั้งสองที่กลายเป็นไวรัลแล้ว ทีมงานพบว่าผู้ใช้รายนี้ยังใช้ Midjourney สร้างรูปภาพของคนดังรายอื่นๆ อีกด้วย เช่น ภาพของเหล่านักแสดงซีรีส์ Game of Thrones ในชุดสไตล์อินเดีย

Source | Archive

และนอกจากผู้ใช้รายดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีผู้ใช้รายอื่นๆ ในกลุ่มที่ใช้ Midjourney สร้างรูปภาพโดยใช้ใบหน้าบุคคลทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน

Source | Archive

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า ปูตินเคยบวชที่วัดในทิเบตนั้น จากการค้นหาตามแหล่งข่าวต่างๆ รวมทั้งรอยเตอร์และไทม์ ตามที่ได้กล่าวอ้าง เราไม่พบบทความหรือรายงานข่าวใดๆ ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ นอกจากนี้ ข้อความที่ระบุว่าปูตินใช้เวลา 3 พรรษา หรือ 9 เดือนในการบวชนั้นก็ไม่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปูตินไม่เคยหายไปจากสื่อสาธารณะเป็นเวลานานกว่า 9 เดือน ตั้งแต่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อปี 2012

สรุป

รูปภาพของปูติน (และไบเดน) แต่งกายเป็นพระสงฆ์ที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้นไม่ใช่ภาพจริง แต่เป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยการป้อนข้อมูลของผู้ใช้ลงในแพลตฟอร์ม Midjourney ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม AI สำหรับสร้างรูปภาพ และข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าปูตินเคยบวชที่ทิเบตเป็นเวลา 9 เดือน ก็ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

Avatar

Title:ภาพปูตินแต่งกายเป็นพระสงฆ์ แท้จริงแล้วสร้างจาก AI

Fact Check By: Cielito Wang

Result: False