เนื่องในสัปดาห์ส่งท้ายปี 2023 เราได้รวบรวม 10 บทความตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของ Fact Crescendo Thailand

และหากพบข่าวที่น่าสงสัย สามารถส่งให้เราช่วยตรวจสอบผ่านทาง LINE ได้ที่นี่

หรือแอด LINE ID: @factcresdendoth

อันดับที่ 1: พิธาไม่ได้จบจากฮาร์วาร์ด?

Picture Credit: ATHIT PERAWONGMETHA | REUTERS

ในช่วงเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีข้อกล่าวอ้างแพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียระบุว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด โดย Harvard Kennedy School ที่พิธาจบการศึกษามานั้น เป็นส่วนหนึ่งของ Harvard University และพิธาก็มีชื่อในทำเนียบศิษย์เก่า Harvard จริง

อ่านบทความเต็ม: ข้อกล่าวอ้างว่าพิธาไม่ได้จบจากฮาร์วาร์ด “ชวนให้เข้าใจผิด”

อันดับที่ 2: วุ้นมะพร้าวในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ทำมาจากกระดาษ?

มีผู้ใช้ TikTok ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับส่วนผสมที่อยู่เครื่องดื่มน้ำผลไม้ยี่ห้อหนึ่ง ว่ามีการใช้กระดาษมาทำเป็นวุ้นมะพร้าว พร้อมทั้งแนะนำไม่ให้ซื้อรับประทาน โดยคลิปดังกล่าวได้รับความสนใจบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นอย่างมาก โดยในเวลาถัดมา บริษัททวีผลผลิตภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มดังกล่าว ได้โพสต์แถลงการณ์ชี้แจงในเพจ Facebook ของ Kato Fruit n Fun โดยระบุว่าข้อมูลในคลิปดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งชี้แจงว่า วุ้นมะพร้าวคือเส้นใยอาหาร ซึ่งผลิตโดยการนำน้ำมะพร้าวและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ Acetobacter Xylinum มาผ่านกระบวนการผลิต ได้ผลผลิตเป็นแผ่นวุ้นที่มีเส้นใยอาหารรวมตัวกัน มีเนื้อสัมผัสธรรมชาติ

อ่านบทความเต็ม: ผู้ผลิตชี้แจง วุ้นมะพร้าวในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ไม่ได้ทำมาจากกระดาษ

อันดับที่ 3: มิจฉาชีพรูปแบบใหม่บน WhatsApp แอบอ้างเป็น HR บริษัทดัง

เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างรับสมัครงาน ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนที่กำลังหางาน โดยแอบอ้างเป็นฝ่ายบุคคล หรือ HR ของบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ เพื่อล่อลวงเอาข้อมูลรวมถึงทรัพย์สินของเหยื่อ โดยเราได้รับเบาะแสว่ามีข้อความน่าสงสัยติดต่อผ่าน WhatsApp โดยอ้างว่าเป็นฝ่ายจัดหาพนักงานของบริษัท JobsDB โดยทาง JobsDB ได้ยืนยันกับทีมงาน Fact Crescendo ว่า ทางบริษัทไม่ได้มีการติดต่อเสนอตำแหน่งงานผ่าน WhatsApp ในลักษณะดังกล่าว และบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นมิจฉาชีพ

อ่านบทความเต็ม: เตือนภัย! มิจฉาชีพรูปแบบใหม่บน WhatsApp แอบอ้างเป็น HR บริษัทดัง

อันดับที่ 4: เตรียมจัดตั้ง “กระแสสินธุ์” เป็นจังหวัดที่ 78?

โพสต์บนโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าจะมีการจัดตั้งจังหวัดกระแสสินธุ์ เป็นจังหวัดที่ 78 ของประเทศไทยนั้นไม่เป็นความจริง โดยทางจังหวัดสงขลายืนยันว่าไม่ได้มีแนวคิดจัดตั้งจังหวัดกระแสสินธุ์ นอกจากนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่ายังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ในประเทศไทยแต่อย่างใด

อ่านบทความเต็ม: เตรียมจัดตั้ง “กระแสสินธุ์” เป็นจังหวัดที่ 78 จริงหรือไม่?

อันดับที่ 5: ภาพนางแบบในชุดชั้นใน ถูกนำมาใช้แอบอ้างว่าเป็นภาพของ ไอซ์ รักชนก

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมานี้ มีข้อกล่าวอ้างที่สร้างความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และอีกกรณีหนึ่งที่เราพบคือ มีการเผยแพร่รูปถ่ายของนางแบบหญิงในชุดชั้นใน โดยอ้างว่าเป็นภาพของรักชนก ศรีนอก ส.ส. เขต 28 จากพรรคก้าวไกล โดยรักชนกได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ปล่อยข่าวเท็จ และนางแบบในภาพได้ออกมายืนยันว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับรักชนกแต่อย่างใด

อ่านบทความเต็ม: ภาพนางแบบถูกนำมาใช้แอบอ้างว่าเป็นภาพของ ไอซ์ รักชนก

อันดับที่ 6: สี จิ้นผิง นำคำสอนในหลวง ร.9 บรรจุลงหลักสูตรที่จีน?

มีการนำภาพคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมคำสอนในภาษาไทย และเวอร์ชันแปลเป็นภาษาจีน เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย พร้อมข้อกล่าวอ้างว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของประเทศจีน ได้สั่งให้นำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ลงในหนังสือเรียนสำหรับนักเรียนจีน แต่จากการตรวจสอบ ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้ และภาพคำสอนของในหลวงร.9 ที่แชร์ในภาษาจีนนั้น เป็นการแชร์เพื่อระลึกถึงในหลวงร.9 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับสี จิ้นผิง และหลักสูตรการศึกษาของจีนแต่อย่างใด

อ่านบทความเต็ม: สี จิ้นผิง สั่งให้นำคำสอนในหลวง ร.9 บรรจุลงหลักสูตรที่จีน จริงหรือไม่?

อันดับที่ 7: ดอกพญาเสือโคร่งที่จะบานทุก 400 ปี?

มีวิดีโอดอกไม้บานที่กำลังแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอ้างว่าเป็น “ดอกพญาเสือโคร่ง” หรือ “มหาโมลี” ที่จะบานทุก 400 ปี แท้จริงแล้ว ดอกไม้ในวิดีโอคือดอก Foxtail Lily ไม่ใช่ดอกพญาเสือโคร่งหรือดอกมหาโมลี และไม่ได้บานทุกๆ 400 ปีตามที่กล่าวอ้าง

อ่านบทความเต็ม: วิดีโอไวรัลที่ถูกเข้าใจผิด: ดอก ”พญาเสือโคร่ง” หรือ“มหาโมลี” บานครั้งเดียวในรอบ 400 ปี

อันดับที่ 8: วิดีโอไวรัล “เมฆถล่ม”?

มีวิดีโอที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ “เมฆถล่ม (Cloud Avalanche)” ในเนปาล โดยมีการแชร์วิดีโอดังกล่าวอย่างแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเหตุการณ์หิมะถล่มในเนปาล

อ่านบทความเต็ม: ข้อเท็จจริงเบื้องหลังวิดีโอไวรัล “เมฆถล่ม”

อันดับที่ 9: น้ำยางกล้วย ช่วยแก้กรดไหลย้อน?

มีข้อกล่าวอ้างในแพลตฟอร์ม TikTok ระบุว่าน้ำยางกล้วยสามารถช่วยลดอาการปวดท้องได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าน้ำยางกล้วยจะรักษาอาการกรดไหลย้อน หรืออาการปวดท้องอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การบริโภคผลกล้วยนั้นสามารถลดอาการระคายเคืองจากกรดไหลย้อนได้จริง

อ่านบทความเต็ม: น้ำยางกล้วย ช่วยแก้กรดไหลย้อนได้ไหม?

อันดับที่ 10: ธนาคารแห่งประเทศไทยได้งบพระราชทาน 9 แสนล้านจากในหลวงรัชกาล 10?

มีข้อกล่าวอ้างว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้แจงต่อสภาว่าเงิน 9 แสนล้านเป็นเงินที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาล 10 โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ใช่ความจริง และเงินที่ในหลวงทรงบริจาคเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2.8 พันล้านบาทนั้นก็เป็นการบริจาคให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล และทัณฑสถานต่างๆ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ข้อความข้างต้นที่มีการที่แชร์บนโซเชียลจึงเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด

อ่านบทความเต็ม: แบงก์ชาติปฏิเสธ ข่าวลืองบประมาณ 9 แสนล้าน เป็น “เงินบุญ”

และในปี 2024 ที่กำลังจะถึง Fact Crescendo ก็จะมุ่งมั่นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหักล้างข่าวปลอมต่อไป เพื่อให้ผู้อ่านรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลข่าวสารบนโลกโซเชียลอยู่เสมอ

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:รวบรวม 10 บทความตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปี 2023

Written By: Cielito Wang

Result: Insight