จากที่มีรูปภาพระบุถึงอันตรายของการใช้หูฟังแบบบลูทูธแชร์กันอย่างแพร่หลายบนโซเชียล โดยในรูปภาพดังกล่าวได้ใช้รูปภาพหูฟังบลูทูธและรูปภาพสมองของมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านมองว่าการใช้หูฟังบลูทูธนั้นส่งผลต่อสมองได้

Facebook Post | Archive

ข้อความในภาพระบุว่า “หูฟังบลูทูธใช้คลื่นวิทยุเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ใช้ โดยในกรณีของ Airpods หูฟังทั้งสองข้างเชื่อมต่อกันแบบไร้สายโดยมีสมองของผู้ใช้คั่นตรงกลาง ทำให้สมองสัมผัสกับคลื่น EMF ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ การศึกษาในอังกฤษยืนยันว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีส่วนทำให้อัตราโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 40% ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา เมื่อใช้หูฟัง ควรเลือกใช้หูฟังแบบสายแทนการใช้หูฟังไร้สาย” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ออกไปกว่า 200 ครั้ง

Facebook | Archive

อีกหนึ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กที่พูดถึงอันตรายของหูฟังแบบบลูทูธที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

มีหลายฝ่ายที่แสดงความกังวลว่าคลื่น EMF อาจส่งผลต่อสมองได้ โดยคลื่น EMF หรือ Electromagnetic fields เป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอุปกรณ์บลูทูธ แต่ยังรวมถึงไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์อีกด้วย

สรุปง่ายๆ ได้ว่า มนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่กับคลื่น EMF มาตั้งแต่จะมีหูฟังแบบบลูทูธแล้ว แต่คลื่นที่ว่านี้ปลอดภัยต่อมนุษย์จริงๆ หรือไม่?

ข้อกล่าวอ้าง: หูฟังบลูทูธปล่อยคลื่น EMF ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

ข้อเท็จจริง: ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นได้ยืนยันว่าระดับคลื่น EMF ที่ปล่อยออกมาจากอุปกรณ์บลูทูธนั้นปลอดภัยต่อการใช้งาน เมื่ออิงตามเกณฑ์การปล่อยคลื่น EMF ที่ Federal Communication Commission (FCC) ของสหรัฐฯ และที่องค์กรสหภาพยุโรป (EU) กำหนด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากข้อมูลของ Headphonesty มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ระบุว่าอุปกรณ์บลูทูธนั้นปลอดภัยสำหรับการใช้งาน และมีอัตราการดูดกลืนพลังงานจำเพาะ (SAR) อยู่ในระดับต่ำ

SAR คืออัตราที่ร่างกายมนุษย์จะดูดซับพลังงานเมื่อสัมผัสกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าคลื่นวิทยุ (Radio Frequency: RF) โดยผู้ผลิตทั่วโลกที่ผลิตอุปกรณ์ที่มีการปล่อยรังสีจะต้องผลิตอุปกรณ์โดยมีค่า SAR ในระดับที่กำหนด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

องค์กร Federal Communication Commission (FCC) ของสหรัฐฯ กำหนดให้ระดับ SAR ในโทรศัพท์อยู่ที่ไม่เกิน 1.6 วัตต์ต่อกิโลกรัม (W/kg) ส่วนองค์การสหภาพยุโรปกำหนดให้ขีดจำกัดของ SAR ในมือถือและอุปกรณ์พกพาอื่นๆ อยู่ที่ไม่เกิน 2 วัตต์ต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ แต่ระดับ SAR ในอุปกรณ์บลูทูธอาจอยู่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ได้มาก

ตัวอย่างเช่น Airpods ของ Apple มีค่า SAR อยู่ที่เพียง 0.072 วัตต์ต่อกิโลกรัมสำหรับส่วนหัว และอยู่ที่ 0.603 วัตต์ต่อกิโลกรัมสำหรับส่วนแกนกลาง ทำให้ Airpods มีระดับการส่งผ่านพลังงานอยู่ในระดับ Class 1 และถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ก็ยังนับว่ามีค่า SAR ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์บลูทูธอื่นๆ เนื่องจากอุปกรณ์บลูทูธส่วนใหญ่อยู่ใน Class 2 หรือ 3 ซึ่งหมายถึงมีค่า SAR ที่น้อยกว่า

ค่า SAR ข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการส่งรังสีของอุปกรณ์บลูทูธนั้นปลอดภัยต่อผู้ที่สัมผัส และยังต่ำกว่าค่าขั้นต่ำที่อาจส่งอันตรายต่อมนุษย์ได้อีกด้วย

Dr. Joel Moskowitz ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพครอบครัวและชุมชนแห่ง University of California, Berkeley และผู้เชี่ยวชาญด้าน Cell Phone Exposure ระบุว่ายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสมอง แต่เขาก็ไม่คิดว่าอุปกรณ์ประเภทนี้จะปลอดภัยอย่างสมบูรณ์เช่นกัน เขาเสริมว่า การวิจัยและกฎระเบียบเกี่ยวกับเทคโนโลยีไร้สายยังไม่อัปเดตอย่างทันท่วงที ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้

เมื่อความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของอุปกรณ์บลูทูธและความเสี่ยงของมะเร็งเพิ่มขึ้น การศึกษาจำนวนมากจึงพยายามค้นหาผลลัพธ์ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาที่ระบุว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีผลกระทบที่เชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง และจากการศึกษาของ Shiwangi Gupta, Radhey Shyam Sharma และ Rajeev Singh เกี่ยวกับรังสีที่ไม่ก่อไอออนที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งในปี 2022 ผลการวิจัยของพวกเขาระบุว่า "แม้ว่าการจะมีการปล่อยรังสีออกมาจากโทรศัพท์มือถือเพิ่มสูงยิ่งขึ้น แต่ก็ยังขาดข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกัน”

เราจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์บลูทูธมีค่า SAR ต่ำกว่าโทรศัพท์มือถือมาก ดังนั้นความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากโทรศัพท์มือถือจึงไม่สามารถนำมาเหมารวมกับอุปกรณ์บลูทูธได้ จึงสันนิษฐานได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้อันตรายน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ Apple ยังยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่าอุปกรณ์ Airpods เป็นไปตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้เกี่ยวกับขีดจำกัดและแนวทางด้านความถี่วิทยุทั้งหมด และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบการใช้งานหลายครั้งเพื่อการันตีความปลอดภัยของผู้ใช้ และคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (The International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection: ICNIRP) ได้บอกกับรอยเตอร์สว่า “ไม่น่าจะมีปัญหาด้านสุขภาพใดๆ” เนื่องจาก "การประเมินล่าสุดของเอกสารด้านวิทยาศาสตร์ [แสดงว่า] ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า EMF ก่อให้เกิดมะเร็ง”

และนอกเหนือจากคำยืนยันดังกล่าวจาก ICNIRP แล้ว โฆษกกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษก็ยังชี้แจงว่า “ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าการสัมผัสกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีผลเสียต่อสุขภาพ หากมีการสัมผัสต่ำกว่าระดับที่ ICNIRP แนะนำ”

ข้อสรุป

คำกล่าวอ้างว่าคลื่น EMF ในอุปกรณ์บลูทูธเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งนั้นชวนให้เข้าใจผิด เนื่องจากขาดหลักฐานที่ชัดเจนของความเชื่อมโยงระหว่างการใช้หูฟังบลูทูธกับความเสี่ยงของโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานและการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ยืนยันว่าหูฟังบลูทูธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม แม้หูฟังแบบบลูทูธจะมีความปลอดภัยในระดับเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความปลอดภัยของหูฟังประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอันตรายจากหูฟังบลูทูธ

นอกจากนี้ หากผู้ใช้ต้องการแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการซื้อมีความปลอดภัยเพียงพอ เราขอแนะนำให้มองหารีวิวการใช้งานหรือข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับเกณฑ์ SAR และ EMR จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์บลูทูธที่ต้องการซื้อมีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้การใช้อุปกรณ์ภายในขอบเขตที่เหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงที่ก่อให้อันตรายตามที่เรากล่าวไว้ข้างต้นได้ด้วยเช่นกัน

Avatar

Title:ภาพไวรัลบนโซเชียลเกี่ยวกับอันตรายของหูฟังบลูทูธยังไม่มีหลักฐานรองรับเพียงพอ

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading