ในยุคของโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างหนึ่งคือวิดีโอไวรัลที่เผยแพร่ทางออนไลน์ โดยอ้างว่าชายคนหนึ่งถูกไฟฟ้าดูดขณะใช้หูฟังบลูทูธบนชานชาลารถไฟ

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายได้แชร์วิดีโอของชายคนหนึ่งที่ล้มหมดสติลงที่ชานชาลารถไฟแห่งหนึ่ง พร้อมข้อความว่า *“หลีกเลี่ยงการใช้หูฟัง BLOOT ใกล้รางปลั๊กไฟ ข้อมูลนี้มีความสำคัญมาก หากคุณได้ยินสิ่งนี้ โปรดสละเวลาสักครู่เพื่อส่งข้อความนี้ถึงลูกชาย ลูกสาว หรือพี่น้องของคุณที่เล่นหูฟังบ่อยๆ โอเคไหม? โดยเฉพาะคนที่นั่งรถไฟฟ้า.. เมื่อเปิดชุดหูฟัง Bluetooth บนโทรศัพท์มือถือของคุณ จะมีกระแส ส่ง/เหนี่ยวนำ จากสายไฟฟ้าแรงสูงบนรางรถไฟเข้าถึงโดยตรงผ่าน หูและเข้าสู่สมอง.. ...จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? ? ? หลีกเลี่ยงการใช้บลูทูธบนชานชาลาฝั่งรถไฟเมื่อขับรถและยืนใกล้ช่องทางรถไฟฟ้า”

Source | Archive

โดยวิดีโอและข้อความดังกล่าวมีการแชร์ต่อเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการหาที่มาของวิดีโอดังกล่าว และพบว่าฟุตเทจดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟ Kharagpur ในรัฐ West Bengal ประเทศอินเดีย เนื่องจากสายไฟหล่นใส่ศีรษะ ไม่ใช่จากการใช้หูฟังบลูทูธแต่อย่างใด (ที่มา: Reuters, News 18)

บุคคลในวิดีโอดังกล่าว คือ Sujan Singh Sardar เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตั๋วเดินทางบนรถไฟ เขาทรุดตัวลงและตกลงไปในทางรถไฟหลังจากสายไฟหลุดออกมาจากด้านหลังและตกใส่เขา โดยหลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่รถไฟได้รุดไปยังที่เกิดเหตุเพื่อช่วยเหลือเขาทันที และเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าสายไฟอาจถูกหลุดออกมา หลังจากสัมผัสกับสายไฟอื่นๆ ที่มีกระแสไฟฟ้า

โดยเมื่อเราทำการสังเกตวิดีโอดังกล่าวอย่างละเอียด พบว่ามีประกายไฟจากสายไฟเหนือศรีษะของชายคนดังกล่าว ก่อนที่จะล้มหมดสติไป

แม้อากาศจะเป็นฉนวนไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าสามารถผ่านอากาศได้ภายใต้บางสภาวะเฉพาะ แม้จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

อย่างที่ทราบกันดีว่าอากาศเป็นฉนวนไฟฟ้า แต่อากาศจะยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้หากประจุไฟฟ้ามีปริมาณมากและมีระยะห่างน้อย เช่น เมื่อฟ้าผ่าในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีประจุจำนวนมากไหลผ่านอากาศในระยะเวลาอันสั้น หรือเรียกว่าการปล่อยประจุไฟฟ้า (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

มีกรณีอื่นๆ ที่กระแสไฟฟ้าสามารถผ่านอากาศได้โดยอาศัยแรงดันพังทลาย (Breakdown Voltage) ซึ่งการใช้แรงกันกระแสไฟฟ้านี้สามารถบังคับให้ให้ไฟฟ้าเดินทางผ่านฉนวนไฟฟ้าได้หากมีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมากพอ แรงดันพังทลายของอากาศอยู่ที่ประมาณ 20 kV ถึง 75 kV

แล้วหูฟังสามารถทำให้เกิดไฟดูดได้จริงหรือ? แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดไฟดูดได้จากระยะไกล โดยเฉพาะหูฟังแบบมีสาย แต่ก็พบได้น้อยมากเช่นกัน หน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการฟังเพลงหรือพูดคุยโดยการใช้หูฟังในขณะที่กำลังชาร์จโทรศัพท์เป็นเวลานานเกินไป และแนะนำให้ใช้ที่ชาร์จแบบพาวเวอร์แบงก์แทนหากจำเป็นที่ชาร์จโทรศัพท์ (ที่มา: Strait Times, Headphonesty)

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยการป้องกันรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (ICNIRP) ได้ยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าหูฟังบลูทูธมีอันตรายต่อร่างกาย (ที่มา: Reuters)

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ภาพไวรัลบนโซเชียลเกี่ยวกับอันตรายของหูฟังบลูทูธ ยังไม่มีหลักฐานรองรับเพียงพอ

สรุป

ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าชายคนหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตเนื่องจากใช้หูฟังบลูทูธบนชานชาลารถไฟนั้นเป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด เหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสายไฟภายในสถานีรถไฟตกใส่ศีรษะ ไม่ใช่จากการใช้หูฟังบลูทูธ นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าหูฟังบลูทูธเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok | WhatsApp

Avatar

Title:วิดีโอชายถูกไฟดูดในสถานีรถไฟ ไม่ได้มีสาเหตุจากหูฟังบลูทูธ

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Misleading