เมื่อไม่นานมานี้ มีวิดีโอแพร่กระจายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กล่าวอ้างว่าให้ระวังเนื้อปลาปลอมในท้องตลาดที่ทำมาจากพลาสติก โดยวิดีโอดังกล่าวมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

เราได้รับเบาะแสจากผ่านช่องทาง LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรา โดยมีวิดีโอที่อ้างว่าเป็นเนื้อปลาทำมาจากพลาสติก แพร่กระจายบนแพลตฟอร์ม LINE

โดยเราพบว่าวิดีโอดังกล่าวได้มีการแชร์อย่างกว้างขวางบน Facebook เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ส่งเบาะแสข้อมูลให้เราช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ที่นี่

คำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ

เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการตรวจสอบที่มาของวิดีโอดังกล่าว และพบว่าวิดีโอนี้ได้แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ปี 2017 และเราได้พบลิงก์ถาวรของเว็บไซต์ Hoaxorfact.com ที่ได้ตรวจสอบวิดีโอดังกล่าว และอธิบายไว้ว่า ลักษณะเนื้อปลาแบบในวิดีโอดังกล่าว เกิดขึ้นจากอาการ Freezer Burn ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเนื้อสัตว์ถูกแช่แข็งและถูกทำให้ละลายเป็นจำนวนหลายครั้ง จึงทำให้เยื่อหุ้มเซลล์สลายและแห้งลง เนื้อสัมผัสตามธรรมชาติของเนื้อสัตว์จึงหายไป นอกจากนี้ เมื่อปลาอยู่ในห้องแช่เย็นนานเกินไป เนื้อปลาจะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำดังในวิดีโอ และเมื่อเนื้อปลาแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานเกินไป จึงดูดซับน้ำไว้เหมือนกับฟองน้ำนั่นเอง

ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหาร ได้อธิบายอาการ Freeze Burn ไว้ว่า เป็นความเสียหายของผลิตภัณฑ์อาหารแช่เยือกแข็งเนื่องจากการสูญเสียความชื้นระหว่างการแช่เยือกแข็ง หรือระหว่างการเก็บรักษา เกิดเป็นรอยแห้งสีขาวหรือสีเหลืองอย่างชัดเจน เป็นตำหนิของผลิตภัณฑ์ (ที่มา)

ศาสตราจารย์ ดร. วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทยว่า ข้อกล่าวอ้างว่าเนื้อปลาในวิดีโอทำมาจากพลาสติกนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเนื้อปลาในลักษณะดังกล่าวเกิดจากการแช่เย็นและการเก็บรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากช่องแช่แข็งในตู้เย็นทั่วไปมีอัตราการแช่แข็งที่ช้า ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งแทรกซึมเข้าไปในเนื้อปลาและทำลายโปรตีน การสัมผัสอากาศยังทำให้เกิดออกซิเดชันและทำให้เนื้อเหนียวอีกด้วย โดยปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยใช้การแช่แข็งอย่างรวดเร็วในโรงงานอุตสาหกรรม และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับปลาแช่แข็ง ควรเก็บรักษาโดยปิดผนึกไว้ในถุงหนา แช่แข็งชิ้นเล็กๆ ปรุงอย่างรวดเร็ว และก่อนนำมาปรุง ค่อยๆ ละลายน้ำแข็งอย่างช้าๆ

นอกจากนี้ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงกรณีวิดีโอข้างต้นว่า “เนื้อปลาในคลิปวิดีโอไม่ใช่เนื้อปลาพลาสติก แต่เป็นเนื้อปลาที่เกิดจากการแช่แข็งเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นการเกิด Freezer burn ซึ่งเมื่อนำเนื้อปลาที่ถูกแช่แข็งมาแช่น้ำจะทำให้มีลักษณะดังกล่าว โดยจากการสังเกตจะพบจุดสีน้ำตาลอมเทาบนเนื้อปลาและผิวหนังของปลาที่เป็นลักษณะปกติของเนื้อปลาที่โดนแช่แข็งมาเป็นระยะเวลานาน” อ่านเอกสารดังกล่าวได้ที่นี่

โดยสรุปแล้ว วิดีโอที่อ้างว่าพบเนื้อปลาทำจากพลาสติกเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ปลาที่มีลักษณะเหนียวคล้ายฟองน้ำดังในวิดีโอเกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่มีมาตรฐาน ทำให้ผลึกน้ำแข็งแทรกซึมเข้าไปในเนื้อปลาและทำลายโปรตีน ทำให้เนื้อเหนียวและมีลักษณะคล้ายกับพลาสติกหรือฟองน้ำ

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok | WhatsApp

Avatar

Title:ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังวิดีโอ “เนื้อปลาปลอม”

Fact Check By: Cielito Wang

Result: Insight