เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี-ซีเรีย ถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ทั้งโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากในสัปดาห์นี้ การค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินไป โดยนอกจากทีมกู้ภัยในประเทศแล้ว ตุรกีและซีเรียยังได้รับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยจากนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยไทยได้ส่งทีม USAR Thailand รวมถึงสุนัขกู้ภัย Sierra และ Sahara เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหา โดยเรื่องราวของสุนัขกู้ภัยทั้งสองตัวก็กลายเป็นไวรัลบนโซเชียล อย่างไรก็ตาม เราพบข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้คนได้ และได้ทำการตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าวนี้

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งได้โพสต์รูปสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ อยู่บนซากปรักหักพังหลังตึกถล่ม พร้อมข้อความบรรยายว่า “สุนัขจากไทย 2 ตัวนี้ ไปถึงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้ 10 คนแล้ว #แผ่นดินไหวตุรกี”

Source | Archive

โดยผู้คนต่างเข้ามาให้กำลังใจและชื่นชมในโพสต์ดังกล่าว

Archive

อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานพบว่าข้อกล่าวอ้างในโพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ และสุนัขในภาพก็ไม่ใช่ K9 Sahara หรือ Sierra แต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทีมงานได้ตรวจสอบรูปภาพดังกล่าวโดยใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search และพบรูปภาพนี้ปรากฏในเว็บไซต์หลายแห่ง รวมถึงเว็บไซต์รูปภาพต่างๆ เช่น Stock Photo, Alarmy ด้วย โดยเราพบว่ารูปภาพดังกล่าวได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ขายรูปภาพอย่าง Alarmy ตั้งแต่ปี 2018 โดย Jaroslav Noska ช่างภาพชาวสาธารณรัฐเช็ก โดยทางทีมงาน Fact Crescendo ได้ติดต่อไปยังช่างภาพรายดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ โดยหากมีรายละเอียดเพิ่มเติมเราจะอัปเดตรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง

Source | Archive

K9 Sierra และ Sahara ช่วยชีวิตคนไปแล้ว 10 รายจริงหรือไม่?

มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ได้แชร์รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของทีม USAR Thailand เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

Archive

โดยทางมูลนิธิได้รายงานว่า “การปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยวันแรกของทีม USAR Thailand โดย K9 ซาฮาร่า และ K9 เซียร่า ในเมือง Halay จำนวน 5 พื้นที่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ชั่วโมง พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายโดย K9 ทั้งสองตัว โดยไม่พบผู้รอดชีวิต..เจ้าหน้าที่ USAR Thailand ทุกท่านและสุนัขค้นหาทั้งสองตัวปลอดภัยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน”

นอกจากนี้ เรายังพบบทความจาก AP ที่ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับสุนัขกู้ภัย โดยมีข้อกล่าวอ้างว่าสุนัขกู้ภัยในภาพได้ช่วยชีวิตผู้ประสบภัยไปกว่า 10 ราย ซึ่งตรงกับข้อกล่าวอ้างในโพสต์เฟซบุ๊กข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสุนัขในบทความนี้ และสุนัขกู้ภัยของ USAR Thailand ก็ไม่ได้ช่วยชีวิตผู้คนไป 10 รายดังข้อกล่าวอ้างนั้นแต่อย่างใด

Source | Archive

สรุป

โพสต์ที่อ้างว่าเป็นภาพสุนัขกู้ภัยจากไทย และได้ช่วยชีวิตผู้ประสบภัยไปกว่า 10 คนนั้นเป็นข้อมูลเท็จ โดยรูปภาพในโพสต์ดังกล่าวเป็นรูปจากเว็บ Alarmy ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายรูปภาพ และข้อมูลที่อ้างว่าสุนัขกู้ภัยทั้งสองตัวได้ช่วยชีวิตคนได้ 10 คน ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

Avatar

Title:รูปภาพสุนัขจากเว็บไซต์ภาพ ถูกนำมาแชร์ว่าเป็นสุนัขกู้ภัยจากไทย

Fact Check By: Cielito Wang

Result: False