ไม่นานมานี้ เราพบข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล ที่เคยแพร่กระจายเมื่อหลายปีที่แล้วกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยกล่าวว่าพาราเซตามอลซึ่งมีชื่อว่า P/500 มีไวรัสปนเปื้อนอยู่ในตัวยา

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

มีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้โพสต์ข้อความว่า “ช่อง 9 เพิ่งออกข่าวภาคค่ำ วันนี้จ๊ะ.ตอนนี้พบ 11จังหวัด รวม กทม ด้วย. คำเตือนด่วน ให้ระวังการใช้ยาพาราเซทตาม่อนซึ่งมีชื่อว่า p/500 เป็นยาที่ออกใหม่ เม็ดยาสีขาวและเคลือบมันจนเป็นประกายมาก หมอยาแนะนำว่า ยานี้มีส่วนผสมของไวรัสชื่อ "แมคชูโป"ซึ่งเป็นไวรัสที่อันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่งของโลก โปรดกระจายข่าวสารนี้ให้ประชาชนได้รับทราบรวมทั้งคนในครอบครัวด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ”

Source | Archive

โดยข้อความดังกล่าวมีการแชร์ต่ออย่างแพร่หลายบนเฟซบุ๊ก และเราพบว่าข้อความดังกล่าวมีการแชร์ต่อมาตั้งแต่ปี 2017 ทั้งทางไลน์และเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม เราพบว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยหลายๆ หน่วยงานก็ได้ออกมาชี้แจงและเตือนว่าไม่ควรแชร์ต่อ

อย. ชี้แจง ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียล “ไม่เป็นความจริง”

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวที่ระบุว่าให้ระวังไวรัสปนเปื้อนในยาว่า เป็นเรื่องที่ไม่จริง ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไป ไวรัสจะไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตในสภาวะที่แห้งได้ จึงมีชีวิตอยู่ในยาเม็ดแบบนี้ไม่ได้ ส่วนกระบวนการผลิตยาก็ต้องสะอาดได้มาตรฐาน โดยห้องที่ผลิตยาจะต้องมีเชื้อจุลินทรีย์น้อยที่สุด หรือบางห้องจะต้องถือว่าเป็นห้องปลอดเชื้อด้วยซ้ำ ส่วนกรณีความมันเงาของยา มีจุดประสงค์เพื่อทำให้น่าใช้น่ารับประทาน หรือเพื่อป้องกันความชื้นในบางกรณี ไม่ได้ทำให้ยาเป็นอันตรายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทาง อย. ยังเผยแพร่บทความเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความที่มีการแชร์ดังกล่าวบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน

“ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์อ้างถึงสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เผยแพร่ข่าวห้ามกินยาพาราเซตามอลที่มีชื่อว่า P/500 เพราะมีไวรัสแมคชูโปปนเปื้อน มีอันตรายถึงตายนั้น ข่าวดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ประชาชนไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งขณะนี้พบว่าข่าวดังกล่าวกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง จึงขอย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แมคชูโปไวรัสเป็นเชื้อที่ไม่สามารถเจริญเติบโตในที่แห้ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ยาพาราเซตามอลจะปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ตามปกติ และขอความร่วมมือจากทุกท่านอย่าหลงเชื่อและอย่าแชร์ข้อความดังกล่าวต่อ เพราะจะสร้างความตระหนกให้กับผู้อื่น“

ไวรัส “Machupo” มีจริงหรือไม่?

ส่วนไวรัส "แมคชูโป” (Machupo หรือ “มาชูโป”) ในข้อความที่แชร์กันนั้น ที่จริงแล้วเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า BHF หรือโรคไข้เลือดออกโบลิเวีย โดยมีหนูเป็นพาหะ อาการคล้ายกับมาลาเรีย ส่วนมากพบในแถบประเทศโบลิเวียทวีปอเมริกาใต้ และไม่ได้ติดต่อผ่านทางยา โดย AfricaCheck ระบุว่า ไวรัส Machupo สามารถพบได้เฉพาะในอเมริกาใต้เท่านั้น

การติดเชื้อไวรัส Machupo ส่งผลให้เกิดโรคที่เรียกว่าไข้เลือดออกโบลิเวีย อาการของโรค ได้แก่ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหงือกมีเลือดออก และชัก แต่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในอเมริกาใต้ โดยคนจะติดเชื้อไวรัสได้ก็ต่อเมื่อสัมผัสกับน้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระของสัตว์ฟันแทะที่ติดเชื้อเท่านั้น (ที่มา)

ช่อง 9 ไม่เคยออกข่าวเรื่องนี้ตามที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ จากช่วงต้นของข้อความที่ระบุว่ามีการออกข่าวภาคค่ำช่อง 9 พีรพล อนุตรโสตถิ์ นักข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริงของศูนย์ข่าวชัวร์ก่อนแชร์ ยืนยันว่า “ช่อง 9 ไม่เคยรายงานข่าวว่าพบยาพารามีไวรัสในจังหวัดไหนๆทั้งนั้น แต่ข้อความที่แชร์กันมาจากข่าวใหญ่ในขณะนั้นและมีผู้ชมต้องการกระจายข่าวจริง นั่นคือการพบหนอนตัวแบนนิวกินีใน 11 จังหวัด ด้วยเวอร์ชันแรกๆ ที่แชร์กันยังมีภาพที่มาจากข่าวนี้อย่างชัดเจน

แล้วข่าวจริงเรื่องหนอนกับข่าวเท็จเรื่องยาพารามารวมตัวกันได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานว่าเป็นเพราะมีการระบาดในช่วงเดียวกัน บางครั้งข้อความที่ส่งไปก็ปะปนกัน ต่อมามีคนหวังดีอยากจะรวมไว้ให้เป็นข้อความเดียวกันก็เลยกลายมาเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ซึ่งก็คือ 5 ปีถัดมาแล้วครับ ดังนั้นแน่นอนว่าถ้าผู้ป่วยที่แชร์มาด้วยกันนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเรื่องนี้ครับ”

สรุป

ข้อความที่ระบุว่า ช่อง 9 ได้ออกข่าวเตือนให้ระวังการใช้ยาพาราเซตามอลที่มีชื่อว่า P/500 มีส่วนผสมของไวรัสชื่อ "แมคชูโป" นั้นไม่เป็นความจริง และช่อง 9 ก็ไม่เคยรายงานกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

Avatar

Title:เช็กแล้ว: ข้อความ “ยาพาราเซตามอน P/500 มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน” ไม่เป็นความจริง

Written By: Cielito Wang

Result: False