เรือดำน้ำ 'ไททัน' ที่หายไปจากเรดาร์ขณะดำดิ่งเพื่อไปสำรวจซากเรือ ‘ไททานิค’ ที่ก้นมหาสมุทร กลายเป็นประเด็นข่าวทั่วโลก แม้ผู้คนทั่วโลกต่างภาวนาให้พบเรือดำน้ำและให้ผู้โดยสารในเรือปลอดภัยในเร็ววัน แต่สุดท้ายผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายฝั่งเขตที่ 1 ของสหรัฐฯ ก็ออกมาแถลงว่าเรือดำน้ำไททันได้เกิดระเบิดจากภายใน (Implosion) เนื่องจากแรงดันภายนอกที่สูงมาก ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทั้งหมด 5 รายเสียชีวิต (อ่านข่าวที่นี่)

โซเชียลมีเดียต่างประหลาดใจและแสดงปฏิกิริยาไปในหลากหลายทิศทางกับข่าวดังกล่าว และเราพบว่ามีรูปภาพต่างๆ ที่กล่าวอ้างว่าเป็นชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันกลายเป็นไวรัล และมีการแชร์อย่างแพร่หลาย

โดนทีมงาน Factcrescendo พบว่ารูปภาพเหล่านี้มีทั้งรูปภาพเก่าและรูปภาพที่สร้างโดย AI ไม่ใช่ชิ้นส่วนจากเรือดำน้ำไททันแต่อย่างใด

โพสต์โซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ภาพชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในก้นมหาสมุทร พร้อมคำบรรยายภาพว่า “ซากเรือดำน้ำ TITAN”

Source | Archive

นอกจากนี้ยังมีทวีตที่มีการรับชมกว่าหนึ่งล้านครั้ง ระบุว่า

“US Coast Guard ยืนยัน เศษซากที่พบเป็นยานดำน้ำ #Titan ที่หายไป โดยซาก Titan จมอยู่ใต้น้ำห่างจากหัวเรือ #Titanic ประมาณ 1,600 ฟุต สันนิษฐานว่านักท่องเที่ยว #ไททานิค ทั้ง 5 คนเสียชีวิตแล้ว "เศษเล็กเศษน้อยนี้สอดคล้องกับความหายนะของห้องความดัน" USCG กล่าว. #เรือดําน้ํา”

พร้อมโพสต์ภาพซากรองเท้าและชิ้นส่วนต่างๆ ที่จมอยู่ใต้ทะเล

Source | Archive

นอกจากนี้เรายังพบโพสต์อื่นๆ พร้อมข้อกล่าวอ้างที่คล้ายกัน ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่ อีกด้วย

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขั้นแรก เราตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ US Coast Guard เพื่อตรวจสอบว่าได้โพสต์รูปภาพเหล่านี้หรือไม่ แต่เราก็ไม่พบรูปภาพดังกล่าว

เราจึงใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search เพื่อค้นหาที่มาของภาพไวรัลดังกล่าว และพบว่าภาพถ่ายส่วนหนึ่งนั้นถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2004 และเปิดให้ดาวน์โหลดบนเว็บไซต์ Stock Photo อย่างเว็บไซต์ Alamy โดยมีคำอธิบายรูปภาพว่า เป็นรองเท้าของหนึ่งในผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติไททานิค

Alamy | Archive

ส่วนอีกรูปภาพที่มีการแชร์อย่างแพร่หลาย ก็ถ่ายตั้งแต่ 2004 เช่นเดียวกัน โดยเป็นภาพซากเสื้อโค้ตและรองเท้าบูตจมอยู่ในโคลนที่ก้นทะเล ใกล้กับส่วนท้ายเรือไททานิค

Alamy

อย่างไรก็ตาม การค้นหาภาพโดยใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search สำหรับภาพอื่นๆ เราไม่พบที่มาชัดเจนนัก และส่วนใหญ่ระบุว่าภาพดังกล่าวเพิ่งอัปโหลดบนโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้

จากนั้นทีมงานได้ทำการค้นหารายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน แต่ก็ม่พบว่ามีรายงานใดๆ จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ 'The Independent' ได้รายงานว่า ยานควบคุมระยะไกล (ROV) ได้พบเศษซากบนพื้นทะเลมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือประมาณ 1,600 ฟุตจากหัวเรือไททานิคในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา

พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ หน่วยรักษาชายฝั่งเขตที่ 1 ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เศษชิ้นส่วนต่างๆ ที่พบนั้น "สอดคล้องกับการระเบิดจากภายในอย่างรุนแรงของเรือดำน้ำ”

“นี่เป็นปฏิบัติการที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ก้นทะเลที่มีความลึกกว่า 2 ไมล์ (3.32 กม.) จากผิวน้ำ” พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ กล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า “เรายังคงวางแผนเส้นทางค้นหาซากชิ้นส่วนของเรือดำนี้ไททันต่อไป และจะพยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อตรวจสอบให้ครบถ้วนว่าพบอะไรอยู่ใต้ทะเลบ้าง” (อ่านบทความเต็มได้ที่นี่)

และเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพไวรัลดังกล่าว เราได้ส่งอีเมลถึงหน่วยงาน US Coast Guard และได้รับการยืนยันว่า “กองบัญชาการร่วมไม่ได้เผยแพร่ภาพถ่ายหรือวิดีโอใดๆ ของเศษซากดังกล่าว รูปภาพที่ไม่ได้มาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเรานั้น ถือเป็นภาพที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน [ว่าเป็นภาพชื้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน]”

ดังนั้น คำตอบนี้จึงยืนยันว่าภาพไวรัลชุดอื่นๆ นั้นไม่ใช่ภาพจริง และไม่เกี่ยวข้องกับเรือไททันลำปัจจุบัน

นอกจากนี้ เราได้นำภาพอื่นๆ ในคำกล่าวอ้างข้างต้นไปตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือ AI Image Detector และผลลัพธ์ระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ภาพเหล่านี้จะสร้างขึ้นโดยใช้ AI ดังที่แสดงด้านล่าง

สรุป

จากการดำเนินการตรวจสอบของเราพบว่า ภาพถ่ายไวรัลที่อ้างว่าเป็นเศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ 'ไททัน' นั้นเป็นข้อมูลเท็จ

หน่วยงาน US Coast Guards Department ยืนยันว่าแม้ว่าจะพบเศษซากของเรือไททันแล้ว แต่ทางหน่วยงานฯ ยังไม่ได้เผยแพร่ภาพหรือวิดีโอดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะแต่อย่างใด และภาพไวรัลส่วนหนึ่งมาจากภาพซากจากเรือไททานิคที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2004 ส่วนภาพชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ใต้ทะเลข้างต้นนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI

Avatar

Title:ภาพเก่าและภาพจาก AI ถูกนำมาแชร์ว่าเป็นภาพชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ (Old & AI-Generated Images Goes Viral as Debris of Titan submersible)

Written By: FC Team

Result: False