การดื่มน้ำรักษาระดับน้ำในร่างกายให้เพียงพอนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องจากมีคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับปริมาณการดื่มน้ำที่เพียงพอในแต่ละวันซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้อ่านได้ และล่าสุด เราพบข้อมูลที่แนะนำปริมาณการดื่มน้ำต่อวันที่แนะนำตามน้ำหนักตัวที่มีการแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้ Twitter (X) รายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวัน โดยระบุว่า:

“ดื่มน้ำ ตัวช่วยลดน้ำหนัก น้ำหนักตัว(kg) = ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวัน 40-50 = 3 ลิตร 50-60 = 3.5 ลิตร 60-70 = 4 ลิตร 70-80 = 4.5 ลิตร 80-90 = 5 ลิตร 100up = 5.5 ลิตร น้ำจะเข้าไปลดความหนืดข้นของเลือด ช่วยระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพ ซึ่งดีต่อระบบเผาผลาญ แถมยังเป็นตัวช่วยแก้หิว”

ที่มา | ลิงก์ถาวร

โดยโพสต์ดังกล่าวมีการรับชมไปกว่าหนึ่งล้านครั้ง และแชร์ต่อกว่าห้าพันครั้ง เราจึงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว

ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวัน

ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงสุขภาพของแต่ละบุคคล อัตราการขยับตัว และพื้นที่ที่อาศัย โดย The Institute of Medicine of the National Academies สหรัฐฯ ระบุว่าปริมาณของเหลวที่เพียงพอต่อวันคือประมาณ 3.7 ลิตรต่อวันสำหรับผู้ชาย และประมาณ 2.7 ลิตรต่อวันสำหรับผู้หญิง ซึ่งครอบคลุมถึงของเหลวจากน้ำดื่ม เครื่องดื่มอื่นๆ และอาหาร และปริมาณของเหลวทั้งหมดที่จำเป็นต่อวันอาจแตกต่างไปโดยอิงตามปัจจัยหลายประการ เช่น การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม สุขภาพโดยรวม การตั้งครรภ์ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ปริมาณน้ำที่ควรดื่มขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวด้วยหรือไม่

จากข้อมูลของ MedicineNet ปริมาณน้ำในแต่ละวันอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว โดยปริมาณน้ำที่บุคคลควรดื่มในแต่ละวันสามารถขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ขนาดตัว อัตราการขยับตัว และพื้นที่ที่อาศัย ตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยปกติคนเราควรดื่มน้ำครึ่งออนซ์ถึงหนึ่งออนซ์ต่อวันต่อน้ำหนักแต่ละปอนด์ ตัวอย่างเช่น ถ้าหนัก 160 ปอนด์ (72 กิโลกรัม)ควรดื่มน้ำระหว่าง 80 ถึง 160 ออนซ์ต่อวัน (ประมาณ 2-4 ลิตร)

อันตรายจากการดื่มน้ำมากเกินไป

การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้เกิดพิษจากน้ำ แม้จะยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณการดื่มน้ำที่ส่งผลให้ถึงแก่ชีวิต แต่การดื่มน้ำมากกว่าหนึ่งลิตรต่อชั่วโมงต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็ไม่ใช่สิ่งที่แพทย์แนะนำ อาการเป็นพิษจากน้ำมักจะเริ่มปรากฏขึ้นหลังจากที่คุณดื่มน้ำมากกว่า 3 ถึง 4 ลิตรในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยปกติไตของผู้ใหญ่(ที่สุขภาพดี) จะสามารถขับน้ำออกได้ 20 ถึง 28 ลิตรต่อวัน แต่จะสามารถขับน้ำออกได้เพียงประมาณ 1 ลิตรต่อชั่วโมง ดังนั้นเมื่อดื่มมากกว่า 1 ลิตรต่อชั่วโมง จะทำให้ไตขับน้ำออกไปได้ยากยิ่งขึ้น และสำหรับผู้สูงอายุและเด็ก ปริมาณน้ำที่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยต่อชั่วโมงก็อาจลดลงเล็กน้อย เนื่องจากไตมักจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

ภาวะน้ำเกินหรือภาวะน้ำเป็นพิษ: Hyperhydration หรืออีกหลายชื่อได้แก่ Water poisoning / Water toxemia / Water intoxication / Overhydration หรือ Dilutional hyponatremia คือ ภาวะที่ร่างกายสะสมน้ำไว้มากเกินไป จนทำให้เกิดอาการผิดปกติเฉียบพลัน โดยอาจมาจากการดื่มน้ำ หรือบริโภคน้ำมากเกินไปเกินกว่าความต้องการและความสามารถในการจัดการน้ำของร่างกาย ส่งผลให้โซเดียมในเลือดต่ำ จนเกิดอาการผิดปกติตามกล่าว

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

กระทรวงสาธารณสุขเผยปัญหาการดื่มน้ำมากเกินพิกัด 6-7 ลิตรต่อวัน จะมีผลทำให้ร่างกายเกิดปัญหาที่เรียกว่าไฮโปแนทรีเมีย ทำให้ระดับเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ สมดุลน้ำในร่างกายเสียไป น้ำจะเข้าไปคั่งในเซลล์ตามร่างกาย หัวใจ-ปอดทำงานหนัก และเกิดภาวะสมองบวม เสียชีวิตได้ ย้ำเตือนนักกีฬาที่เสียเหงื่อมาก อย่าดื่มน้ำมากเกิน 1 ลิตร อาจทำให้เกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ปกติร่างกายจะสูญเสียน้ำวันละประมาณ 2.5 ลิตรทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่าย โดยร่างกายได้น้ำจากการรับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ต่างๆ และการดื่มน้ำ ต่อวันควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ประมาณ 1,200 ซีซีหรือ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเหมาะสม หากดื่มน้ำน้อยเกินไป อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ส่วนการดื่มน้ำที่มากไปคือเกินวันละ 6-7 ลิตร จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (Water intoxication) เนื่องจากน้ำจะเจือจางทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ เมื่อถูกเจือจางลงจะทำให้น้ำภายนอกเซลล์ซึมเข้าไปภายในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมน้ำ หรือคั่งนี้ เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำหรือไฮโปแนทรีเมีย (Hyponatremia) จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้

แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการดื่มน้ำให้เหมาะสม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไต โรคหัวใจ จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนบางกลุ่มยังมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยทำให้ผอมลง หรือกินน้ำบ่อยๆให้อิ่มเพื่อลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายไม่อยากอาหาร วิธีการเช่นนี้จะทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมมากยิ่งขึ้น การดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้นอนไม่พอ เนื่องจากต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากขณะออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็ไม่ควรดื่มน้ำเกิน 1 ลิตรในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายสูญเสียเกลือโซเดียมไปพร้อมกับเหงื่อ หากดื่มน้ำมากเกินไป น้ำจะไปเจือจางเกลือโซเดียมที่เหลืออยู่ ทำให้เกิดภาวะไฮโปแนทรีเมียได้เช่นกัน

สรุป

ปริมาณน้ำที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 2.7-3.7 ลิตร ซึ่งอาจเพิ่มหรือลดลงได้ตามลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล แต่การดื่มน้ำมากเกินไป หรือการดื่มน้ำปริมาณมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:ดื่มน้ำปริมาณมากๆ ส่งผลดีหรือเสียต่อร่างกายอย่างไร?

Written By: Cielito Wang

Result: Insight