
วันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ทั้ง 4 ฉบับ ที่ถูกเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ และภาคประชาชน โดยมีจำนวนสมาชิกที่เห็นด้วยอย่างมากถึง 369 เสียง และไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบบกฎหมายสมรสในประเทศไทย โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในขั้นตอนถัดไป
โดยร่างกฎหมายที่มีการยื่นเสนอในสภา ได้แก่
- ร่าง พ.ร.บ.ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน เป็นผู้เสนอ
- ร่าง พ.ร.บ.ซึ่ง นายสรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
สรุปสาระสำคัญจากร่างกฎหมาย
การหมั้น: ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ใช้ข้อความว่า “บุคคลทั้งสองฝ่าย ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น” ส่วนของภาคประชาชน ไม่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม เนื่องจากสามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น
คำที่ระบุในกฎหมาย: ร่างทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้หลังจดทะเบียนแล้ว ใช้คำว่า “คู่สมรส” เหมือนกัน ซึ่งเปลี่ยนจากกฎหมายเดิมซึ่งระบุให้ใช้คำว่า “สามี-ภริยา” หรือ “คู่สมรส”
อายุ: ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกล ระบุว่าบุคคลสามารถสมรสได้เมื่อมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ส่วนของรัฐบาลระบุว่า บุคคลสามารถสมรสได้เมื่อมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
การใช้นามสกุล: ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และของภาคประชาชน ได้อนุญาตให้ใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ ยกเว้นร่าง พ.ร.บ. ของ ครม. ที่ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้
คำเรียกบิดามารดากับบุตร: ร่างของรัฐบาลและก้าวไกลไม่มีการแก้ไขคำ แต่ร่างของภาคประชาชน ได้เสนอให้เปลี่ยนคำในกฎหมายจาก “บิดา มารดา” เป็น “บุพการี”
สิทธิในการสมรส: ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับ ให้สิทธิกับคู่รักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับทุกคน โดยกำหนดให้สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ สามารถรับมรดกจากคู่สมรสได้ รวมไปถึงสามารถตัดสินใจแทนกันทางการแพทย์ได้
บทเฉพาะกาล: ร่างของรัฐบาลและก้าวไกลไม่มีบทเฉพาะกาล แต่ร่างของภาคประชาชนมีบทเฉพาะกาล
ระยะเวลาบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ: ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล 120 วัน ร่างของภาคประชาชน 60 วัน

แผนภาพเปรียบเทียบกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับ โดย ThaiPBS
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง
Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok
ที่มา:
https://www.ilaw.or.th/node/6731
https://www.thaipbs.or.th/news/content/335167