อย่าแชร์ต่อ! ข้อความ Omicron XBB รุนแรงกว่าเดลต้า 5 เท่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

COVID-19 Explainer Health

ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกมาเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง และเข้ารับวัคซีนประจำปีเพื่อป้องกันโควิดก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (อ่านข่าวที่นี่)

ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่กำลังกลับมาระบาดอีกครั้ง เราพบว่ามีข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนแพร่กระจายตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายได้แชร์ข้อความเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยมีเนื้อหาดังนี้:

“COVID สายพันธุ์ใหม่ ทุกคนควรสวมหน้ากาก เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของ COVID-Omicron XBB นั้นแตกต่าง อันตรายถึงชีวิต และไม่สามารถตรวจพบได้ง่าย:

– อาการของไวรัส XBB มีดังนี้:

  1. ไม่มีอาการไอ
  2. ไม่มีไข้ จะมีเพียง:
  3. ปวดข้อ
  4. ปวดศีรษะ
  5. ปวดคอ
  6. ปวดหลังส่วนบน
  7. โรคปอดบวม
  8. เบื่ออาหารทั่วไป XBB เป็นพิษมากกว่าเดลต้าถึง 5 เท่าและมีอัตราการตายที่สูงกว่า จะใช้เวลาสั้นกว่าอาการจะรุนแรงถึงขีดสุด และบางครั้งก็ไม่มีอาการชัดเจน ไม่พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในบริเวณโพรงหลังจมูก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อปอดหรือ “หน้าต่าง” ในระยะเวลาอันสั้น การทดสอบ Nasal swab โดยทั่วไปให้ผลลบสำหรับ COVID-Omicron XBB และกรณีการทดสอบ Nasopharyngeal ที่เป็นลบที่ผิดพลาดกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายในชุมชนและติดเชื้อในปอดโดยตรง นำไปสู่โรคปอดบวมจากไวรัส ซึ่งจะทำให้เกิดความเครียดทางเดินหายใจเฉียบพลัน XBB กลายเป็นโรคที่ติดต่อได้สูง รุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิต หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รักษาระยะห่าง 1.5 เมตร แม้ในที่โล่ง สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น สวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม ล้างมือบ่อยๆ แม้ทุกคนไม่มีอาการ (ไม่ไอ จาม) อย่าเก็บข้อมูลนี้ไว้คนเดียว แบ่งปันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับญาติและเพื่อนคนอื่นๆ”

Source | Archive

ข้อความดังกล่าวได้มีการแชร์อย่างแพร่หลายบนเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำการตรวจสอบ เราพบว่าบางส่วนในข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทีมงาน Fact Crescendo พบว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่มีการแปลมาจาก Forwarding Message ในภาษาอังกฤษที่มีการแพร่กระจายในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ข้อความในเวอร์ชันภาษาอังกฤษได้แพร่กระจายทั้งบน Facebook และ Whatsapp เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวในเวอร์ชันภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยสามารถอ่านบทความของเราได้ที่นี่

โดยกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้ออกมาปฏิเสธว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว”

ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญในไทยอย่าง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง AFP Thailand ว่าข้อมูลในข้อความดังกล่าวที่อ้างว่า “ไม่พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในบริเวณโพรงหลังจมูก“ ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศว่าข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเท็จบางส่วน และขอความร่วมมือไม่แชร์ต่อ

โควิดสายพันธุ์ใหม่: XBB.1.16

XBB.1.16 หรือ Arcturus เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีการตรวจพบสายพันธุ์ XBB.1.16 ครั้งแรกในเดือนมกราคม ซึ่งได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา และขณะนี้มีรายงานพบผู้ป่วยจากสายพันธุ์ดังกล่าวในกว่า 42 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย และในประเทศไทยด้วย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.16 ได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ที่แพร่กระจายในอินเดีย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม WHO ระบุว่า XBB.1.16 เป็น “สายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง”

XBB.1.16 สามารถแพร่เชื้อได้ดีขึ้นหรือไม่

เมื่อเดือนที่แล้ว WHO ระบุว่า XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ของหนามโปรตีนในไวรัสที่น่าสังเกต โดยหนามโปรตีนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์และทำให้เกิดการติดเชื้อ และการกลายพันธุ์ของ XBB.1.16 ทำให้สายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายยิ่งขึ้น

แม้ว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Dr. Monica Gandhi ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่ง University of California ให้สัมภาษณ์กับ Yahoo News ว่าสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้หมายความว่าต้องอันตรายมากขึ้นเสมอไป

“ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การติดเชื้อ หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้คนจากผลลัพธ์ที่ร้ายแรงที่สุดจากโรคได้” Dr. Gandhi กล่าว

อาการของ XBB.1.16 มีอะไรบ้าง

XBB.1.16 อาจแสดงอาการเฉพาะซึ่งไม่พบในสายพันธุ์ก่อนหน้าของไวรัสโคโรนา อ้างอิงจากแพทย์บางราย สายพันธุ์ใหม่นี้อาจจะทำให้เกิดอาการตาแดง ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าโรคตาแดง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งทำให้สายพันธุ์นี้มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนหน้า

Dr. Namrata Jasani ที่ปรึกษาอาวุโสด้านระบบทางเดินหายใจของ Global Hospitals กล่าวกับ Indian Express ว่าเด็กที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้อาจมีอาการเช่น มีไข้สูง ไอ ตาแดง คัน และน้ำตาไหล ซึ่งอาจคล้ายกับไวรัสอื่นๆ เช่น Adenovirus ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อนในอินเดีย

Vipin M. Vashishtha สมาชิกของโปรแกรม Vaccine Safety Net ของ WHO ทวีตเมื่อต้นเดือนเช่นกันว่าเด็กที่ติดเชื้อ Arcturus จำนวนมากกำลังประสบกับ “เยื่อบุตาอักเสบคันและเหนียวเหนอะหนะ”

ส่วนในประเทศไทย นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้แถลงว่าพบผู้ป่วยชาย อายุ 42 ปี ป่วยด้วยโรคโควิด-19 และมีอาการเข้ากับการติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 โดยระบุว่า

“ผู้ป่วยชายไทยอายุ 42 ปี วันที่ 13 เมษายน 2566 ระหว่างอยู่ต่างประเทศ เริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล กลับถึงประเทศไทยวันที่ 16 เมษายน ตาแดง มีขี้ตาเหนียวทั้ง 2 ข้าง ลืมตาได้ ไม่คันตา ไม่เจ็บตา ตามองเห็นปกติ ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ เคยติดเชื้อโควิด-19 มกราคม 2565 ครั้งนั้นตาไม่แดง ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้า 2 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม วันที่ 17 เมษายน 2566 ตรวจ ATK ให้ผลบวก เอกซเรย์ปอดปกติ ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ อาการต่างๆไข้ ไอ ดีขึ้น ตาแดงดีขึ้นใช้เวลา 7 วัน ผู้ป่วยรายนี้น่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 จากต่างประเทศมากที่สุด ทำให้เกิดอาการตาแดง มีขี้ตาเหนียวร่วมด้วย” (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC)

วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันยังใช้ได้ผลกับสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือไม่

องค์การอนามัยโลกเพิ่งยืนยันว่าวัคซีนบูสเตอร์นั้นใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่

The Hindu รายงานว่ากลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับส่วนประกอบของวัคซีนโควิด-19 (TAG-CO-VAC) ได้กล่าวว่า “วัคซีนบูสเตอร์แบบ Index virus based ยังคงป้องกันต่อโรคร้ายแรงและการเสียชีวิตที่เกิดจากโรค SARS-CoV-2 ทั้งหมดได้ รวมถึงสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่พัฒนามาจากสายพันธุ์โอมิครอนด้วย”

Dr. Gandhi ระบุว่าการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติสามารถกระตุ้นส่วนประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น บีเซลล์และทีเซลล์ ซึ่งสามารถป้องกันไวรัสได้ในระยะยาว

บีเซลล์ (B cells)มีหน้าที่ผลิตแอนติบอดีที่สามารถลดความรุนแรงของไวรัสและป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ ส่วนทีเซลล์ (T cells) มีหน้าที่ตรวจจับและกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อ เมื่อทำงานร่วมกัน การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในการป้องกันไวรัสได้หลายชั้น และให้การป้องกันแม้กระทั่งต่อสายพันธุ์ใหม่ๆ

โดยสรุปแล้ว โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่เกิดขึ้นใหม่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วโลก เนื่องจากมีโอกาสแพร่กระจายและติดเชื้อเพิ่มขึ้น สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนตัวนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังหลายประเทศ รวมถึงในไทยด้วย ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยทั้งในประเทศและทั่วโลกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ XBB.1.16 มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การติดตามและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบัน

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เราตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วที่นี่

Avatar

Title:อย่าแชร์ต่อ! ข้อความ Omicron XBB รุนแรงกว่าเดลต้า 5 เท่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

By: Cielito Wang 

Result: Explainer

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *