เมื่อโซเชียลมีเดียช่วยให้โลกเชื่อมต่อกันได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เหล่ามิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อหลอกลวงบุคคลที่หลงเชื่อ และล่าสุด มีหลายฝ่ายได้ออกโรงเตือนถึงกลโกงรูปแบบใหม่ของมิจฉาชีพ ที่สร้างเพจ Facebook สวมรอยเป็นโรงแรมชื่อดังต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยจะหลอกล่อให้ลูกค้าทำการจองและโอนเงินโดยตรงไปยังมิจฉาชีพเหล่านี้

การระบาดของเพจ Facebook ปลอม

ธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็กต่างต้องใช้ Facebook เป็นหนึ่งในช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ใช้เป็นช่องทางเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตน รวมถึงเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าอีกด้วย เหล่ามิจฉาชีพจึงใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ โดยได้สร้างเพจ Facebook ของโรงแรมชื่อดังต่างๆ โดยนำข้อมูลต่างๆ มาจากเพจจริงหรือเว็บไซต์ของโรงแรม รวมถึงใช้ภาพและวิดีโอรีวิวจากลูกค้าจริงของทางโรงแรมเพื่อให้ดูสมจริง โดยเพจปลอมเหล่านี้มักจะลักษณะคล้ายกับเพจจริงมาก อาจมีข้อแตกต่างกันที่ยอดผู้ติดตามเพจที่น้อยกว่าเพจจริง ซึ่งทำให้ผู้ใช้แยกความแตกต่างจากเพจจริงของโรงแรมได้ค่อนข้างยาก (ดูโพสต์เตือนภัยจากโรงแรม ที่นี่ ที่นี่ ที่นี่)

โดยทั่วไปแล้วเหล่ามิจฉาชีพจะโพสต์โปรโมชั่นที่ราคาถูกกว่าเว็บจริงเป็นอย่างมาก โดยจะอ้างว่าให้ส่วนลด หรือแพ็กเกจพิเศษต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดให้ผู้ที่สนใจรีบทำการจองผ่านเพจ และเมื่อผู้สนใจติดต่อสอบถามไปในช่องทางข้อความ มิจฉาชีพก็จะสวมรอยเป็นผู้ดูแลเพจหรือพนักงานโรงแรมเพื่อสื่อสารและโน้มน้าวให้ลูกค้าโอนเงินจอง

ข้อควรสังเกตและควรระวัง:

1. ดูที่ “ความโปร่งใสของเพจ” เพื่อเช็กว่าเป็นเพจจริงหรือไม่

ตัวอย่างเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นโรงแรม

เพจมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นโรงแรมส่วนใหญ่จะเพิ่งจัดทำเพจขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และอาจเคยเปลี่ยนชื่อมาก่อน และบางรายยังมีผู้ดูแลเพจส่วนใหญ่ในต่างประเทศ

2. ให้ชำระเงินผ่านบัญชีส่วนตัว ที่ไม่ใช่บัญชีของทางโรงแรม

มิจฉาชีพมักจะให้ลูกค้าการโอนเงินเพื่อทำการจองห้องพักผ่านบัญชีส่วนบุคคล ที่ไม่ใช่ชื่อโรงแรมหรือบริษัท โดยมักจะแจ้งให้ลูกค้าโอนเงินเต็มจำนวนเพื่อทำการจองล่วงหน้า

3. ใช้ภาษาที่ไม่เป็นธรรมชาติ

ในบางกรณี ผู้แอบอ้างอาจใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง ตอบคำถามแบบกำกวม ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ถึงความไม่เป็นมืออาชีพหรือไม่ใช่ตัวแทนของโรงแรมดังกล่าวจริง

รู้เท่าทันมิจฉาชีพ

เราได้รวบรวมขั้นตอนต่างๆ เพื่อป้องกันตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพรูปแบบนี้ เมื่อต้องทำการจองห้องพักโรงแรมแบบออนไลน์

จองผ่านเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ: จองผ่านเว็บไซต์ผู้ให้บริการจองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด และมักจะมีการรับประกันและให้ความช่วยเหลือในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจอง เช่น Agoda.com, Booking.com หรือทำการจองผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรง

อย่าแชร์ข้อมูลสำคัญ: หลีกเลี่ยงการแบ่งปันข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น เลขบัตรเครดิต หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง หรือข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ผ่านข้อความ Facebook หรือช่องทางการสื่อสารที่ไม่ปลอดภัยใดๆ

ตรวจสอบข้อมูลกับช่องทางหลักของโรงแรมก่อนโอนเงิน: หากต้องจองผ่านช่องทางเพจ Facebook จริงๆ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจตามวิธีที่กล่าวข้างต้น หรือตรวจสอบกับช่องทางอื่นๆ ของโรงแรม เช่นโทรศัพท์หรืออีเมลที่ระบุในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:ระวังเพจปลอม! กลใหม่มิจฉาชีพ ปลอมเป็นเพจโรงแรม ลวงลูกค้าให้โอนเงินจอง

By: Cielito Wang

Result: Explainer