การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ถือเป็นวาระสำคัญสำหรับคนไทยทุกคน และสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง วันเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้ใช้สิทธิในการเลือกผู้สมัครและพรรคที่ต้องการเป็นผู้นำประเทศและเลือกตัวแทนจากพื้นที่ของตนเข้าไปเป็นสมาชิกสภา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงไม่ควรละเลยสิทธิในการลงคะแนนเสียงของตน Fact Crescendo จึงได้รวบรวมสิ่งที่ควรทำและข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติตามในช่วงเลือกตั้ง

เตรียมความพร้อมก่อนเข้าคูหา

เช็กคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

๐ ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

๐ ต้องมีสัญชาติไทยผู้ที่โอนสัญชาติมาเป็นคนไทย ต้องได้รับสัญชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี

๐ ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน

ไปใช้สิทธิตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

ผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เว้นแต่ คนที่เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านไม่ถึง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ต้องไปใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเดิมที่อยู่มานานกว่า 90 วัน

หากเพิ่งย้ายทะเบียนบ้าน และต้องการใช้สิทธิในหน่วยออกเสียงตามที่อยู่ใหม่ ต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตโดยต้องเลือกผู้สมัครของเขตเลือกตั้งตามที่อยู่เดิม

ตรวจสอบรายชื่อตัวเองและหน่วยเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบชื่อ และหน่วยออกเสียงที่ตัวเองต้องไปลงคะแนนได้จากหนังสือที่ส่งไปยังเจ้าบ้าน ซึ่งจะส่งไปถึงไม่เกิน 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หรือสามารถตรวจสอบรายละเอียดเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้งได้ที่นี่: ตรวจสอบรายละเอียดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่แอปพลิเคชัน Smart Vote (Android | iOS)

หลักฐานแสดงตน ใช้เอกสารอะไรได้บ้าง?

บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ พาสปอร์ต

บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ จากแอปพลิเคชัน ThaID (D.DOPA) หรือใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์จากแอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงตนได้

  • ดาวน์โหลด ThaID: Android | iOS
  • ดาวน์โหลด DLT QR LICENCE: Android | iOS

ข้อห้ามสำหรับวันเลือกตั้ง

ห้ามโฆษณา/โพสต์หาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง

ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 (วันก่อนเลือกตั้งหนึ่งวัน) จนจบวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 กฎหมายเลือกตั้งกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใด โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองก็ตาม (มาตรา 79)

ตัวอย่างของการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง เช่น

๐ ใส่เสื้อ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หรือมีสีและหมายเลขพรรคการเมือง

๐ โพสต์ข้อความ อัปโหลดภาพหรือคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพรรคการเมืองลงบนโซเชียลมีเดีย

๐ แจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหาเสียง บริเวณใกล้หน่วยเลือกตั้ง

หากฝ่าฝืน โทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 156)

ห้ามจำหน่ายหรือแจกสุราในเขตเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง ห้ามไม่ให้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างวันและเวลาตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น.

หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 147)

ห้ามเผยแพร่ผลโพลในช่วง 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดหีบ (17.00 น. ของวันเลือกตั้ง)

ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้ว

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว (มาตรา 97) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165)

ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วให้คนอื่นเพื่อให้ทราบว่าเลือกใคร

ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเสียงแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (มาตรา 99) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165)

ห้ามขัดขวาง-หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวจนทำให้ผู้ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปถึงหน่วยเลือกตั้งได้ หรือทำให้ไปใช้สิทธิไม่ทันเวลา (มาตรา100) ซึ่งระวางโทษที่ลงแก่ผู้ที่ขัดขวางนี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี (มาตรา 164)

ห้ามนายจ้าง ขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปเลือกตั้ง

กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้างที่กระทำการขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรแก่ลูกจ้างในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีโทษถึงจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 142)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ #เลือกตั้ง66

อย่าสับสนเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ - ส.ส. เขต

เนื่องจาก ส.ส.เขตจากพรรคเดียวกัน อาจได้หมายเลขคนละเบอร์กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (เบอร์พรรค) และควรจำเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส. ในเขตของตน ที่ต้องการจะเลือกให้ได้ เนื่องจากบนบัตรจะมีแต่ตัวเลข ไม่มีชื่อของผู้สมัคร ส.ส.เขตกำกับไว้ หากต้องการเลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกัน ต้องระวังเรื่อง “เบอร์” ให้ดี

๐ ดูข้อมูลผู้สมัครส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อได้ที่นี่: ดูรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.

๐ ดูนโยบายแต่ละพรรคก่อนตัดสินใจเลือกได้ที่นี่: นโยบายพรรคที่สมัครรับเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ

รูปแบบบัตรเลือกตั้ง

  1. สีม่วง สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยเป็นการเลือกตัวแทนเขตในการลงมือทำงาน และเป็นตัวแทนเสียงประชาชน
  2. สีเขียว สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเป็นการเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบในนโยบาย และต้องการให้เป็นพรรคตัวแทนเสียงประชาชน

สามารถถ่ายภาพบรรยากาศหน่วยเลือกตั้งและถ่ายทอดสดการนับคะแนนได้

จากที่มีข้อกล่าวอ้างเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “กกต. ไม่อนุมัติให้มีการถ่ายทอดสดนับคะแนนแบบเรียลไทม์” เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และพบว่าไม่เป็นความจริง สื่อมวลชวนและประชาชนสามารถถ่ายภาพและวิดีโอบรรยากาศในคูหาเลือกตั้งขณะลงคะแนน (ภายนอกคูหา) และการนับคะแนนที่ใบขีดคะแนนได้ ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนการทำงานของ กปน. รวมถึงสามารถทักท้วงการขีดคะแนน การขานคะแนน และการอ่านคะแนนได้ (อ่านบทความตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ที่นี่: #เลือกตั้ง66: “ห้าม” ถ่ายทอดสดตอนนับคะแนน จริงหรือไม่?)

Avatar

Title:เลือกตั้ง66: รวมข้อควรรู้และข้อห้ามก่อนวันเลือกตั้ง

By: Cielito Wang

Result: Explainer