มีโพสต์ไวรัลบนแพลตฟอร์ม X (Twitter) ที่ระบุว่าการรับประทานอาหารเสริม Astaxanthin ส่งผลให้ค่าตับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ต่อเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยผู้ใช้หลายรายก็แสดงความกังวลต่อข้อมูลดังกล่าว Fact Crescendo จึงตัดสินใจดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว

โพสต์บนโซเชียลมีเดีย

ผู้ใช้ X รายหนึ่งได้โพสต์ข้อความว่า “อุทาหรณ์สอนใจสาวที่อยากสวย วันนี้ฉันไปตรวจสุขภาพมา พบว่า ค่าตับสูงผิดปกติมากก แบบผิดปกติจริงๆ หมอเฉพาะทางถามคำเดียว เธอกิน astaxanthin ใช่ไหม ฉันตอบ ใช่ค่ะ หมอบอกให้หยุดทันที เพราะเจอหลายเคสแล้วที่ทำตับอักเสบ (ไม่ใช่ทุกคน)”

Source | Archive

โดยโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ต่อจำนวนมาก และล่าสุดมีการรับชมไปแล้วกว่า 2.8 ล้านครั้ง

Astaxanthin คืออะไร

Astaxanthin (แอสตาแซนธิน) ซึ่งเป็นสารสีแดงที่จัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น สาหร่าย ปลาแซลมอน และกุ้ง เป็นสารที่ขึ้นชื่อในด้านการต้านอนุมูลอิสระ โดยมีประโยชน์ต่อสุขภาพสมอง สุขภาพดวงตา สุขภาพผิว และการสนับสนุนระบบภูมิคุ้มกัน

งานศึกษาเกี่ยวกับ Astaxanthin และการส่งผลต่อดับ

มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น ที่ได้ศึกษาผลลัพธ์ของแอสตาแซนธินต่อตับ โดยการศึกษาในหัวข้อ “ผลลัพธ์ในการป้องกันและการรักษาของแอสตาแซนธินต่อโรคไขมันพอกตับ (Preventative and Therapeutic Effects of Astaxanthin on NAFLD) ที่ตีพิมพ์ในวารสารหมวด Antioxidants (สารต้านอนุมูลอิสระ) ในเว็บไซต์ตีพิมพ์วารสารการวิจัย MDPI ชี้ให้เห็นว่า แอสตาแซนธินอาจมีฤทธิ์ป้องกันหรือรักษาโรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) ได้ โดยสามารถยับยั้ง Oxidative Stress การอักเสบ การดื้อต่ออินซูลิน เมตาบอลิซึมของไขมัน และการเกิดพังผืดได้

นอกจากนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ Life Extension ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพของแอสตาแซนธินในการปกป้องตับจากการบาดเจ็บ และช่วยในการฟื้นฟูความเสียหายในตับ และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Dovepress ก็ได้รายงานผลการศึกษาแอสตาแซนธินไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่ามีผลในการป้องกันและการรักษาการเกิดพังผืดในตับ โรคไขมันพอกตับ มะเร็งตับ และการบาดเจ็บของตับที่เกิดจากการใช้ยา

โดยทั่วไปแล้ว แอสตาแซนธินถือว่าปลอดภัยสำหรับตับ และตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่างๆ ก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลเสียต่อตับ เว็บไซต์ Verywell Health ระบุว่าผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากแอสตาแซนธิน เมื่อรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจรวมถึงอุจจาระสีแดงและการเคลื่อนไหวของลำไส้เพิ่มมากขึ้น และบทความจาก WebMD แนะนำว่า แอสตาแซนธินอาจขัดขวางเอนไซม์ 5-alpha-reductase ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในร่างกาย แต่ผลวิจัยดังกล่าวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตับแต่อย่างใด นอกจากนี้ บทความใน Nimed Health ก็ระบุว่าแอสตาแซนธินปลอดภัยต่อทั้งตับและไตอีกด้วยเช่นกัน

การรับประทานให้ปลอดภัย

โดยทั่วไป การรับประทานแอสตาแซนธินให้ปลอดภัยคือการรับประทานในปริมาณที่แนะนำ โดยเว็บไซต์ Very Well Health แนะนำให้รับประทานไม่เกิน 6-7 มิลลิกรัมต่อวัน พร้อมอาหาร

การรับประทานแอสตาแซนธินมากเกินไปอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลต่อระดับแคลเซียมในร่างกาย มีอาการผื่นขึ้นในกรณีที่แพ้

กลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน Astaxanthin ได้แก่

  • ผู้ที่แพ้อาหารที่มีสาร Astaxanthin เช่น สาหร่าย แซลมอน กุ้ง หรือล็อบสเตอร์
  • ผู้ที่แพ้แคโรทีนอยด์ชนิดอื่น เช่น แคนทาแซนทิน (Canthaxanthin)
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคกระดูกพรุน แคลเซียมต่ำ ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ผิดปกติ ฮอร์โมนผิดปกติ หรือภาวะความดันโลหิตผิดปกติ
  • สตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร

แม้จะมีข้อกล่าวอ้างว่าแแอสตาแซนธินส่งผลเสียโดยตรงต่อตับ แต่เราก็ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดที่สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยที่มีการตรวจสอบและแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือก็ไม่ได้รายงานผลกระทบเชิงลบใดๆ ของแอสตาแซนธินต่อตับแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่ออาหารเสริมของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพก่อนเริ่มรับประทาน

Sources:

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:Astaxanthin ส่งผลอันตรายต่อตับ จริงหรือไม่?

Written By: Cielito Wang

Result: Insight