
อินเทอร์เน็ตถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักสำหรับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันนี้ และหากวันหนึ่งอินเทอร์เน็ตหายไป จะไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เท่านั้น แต่อาจเกิดภาวะการหยุดชะงักของทั้งระบบพลังงาน ระบบการเดินทาง ระบบเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก
ล่าสุด ผู้ใช้โซเชียลต่างให้ความสนใจกับ “Internet Apocalypse” หรือสภาวะโลกอินเทอร์เน็ตล่มสลาย พร้อมข้อกล่าวอ้างว่า NASA ได้ออกมาเตือนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นจริงในไม่ช้านี้



โดยเมื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว เราพบว่าข่าวดังกล่าวมาจากบทความเกี่ยวกับ AI ตัวใหม่ที่สามารถทำนายการเกิดพายุสุริยะ (Solar Storm) ล่วงหน้าได้ของ NASA
พายุสุริยะคืออะไร
พายุสุริยะหรือ Solar Storm เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ใช้เรียกการปล่อยพลังงานออกมาจากดวงอาทิตย์ โดยผลลัพธ์ของพายุสุริยะอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เปลวสุริยะ (Solar Flare) หรือ ลมสุริยะ (Solar Wind) ที่ส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกได้ โดยสามารถเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้รวมๆ ได้ว่า “สภาวะอวกาศ” (Space Weather)
โดยในบทความนี้ NASA ได้อธิบายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไว้ว่า:
“ดวงอาทิตย์ส่งสสารสุริยะออกสู่อวกาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในลักษณะการไหลที่สม่ำเสมอที่เรียกว่า “ลมสุริยะ” และในลักษณะการระเบิดที่สั้นกว่าและมีพลังงานมากกว่า จากการปะทุของดวงอาทิตย์ เมื่อสสารจากดวงอาทิตย์นี้กระทบกับสนามแม่เหล็กโลก (Magnetosphere) บางครั้งก็จะสร้างพายุแม่เหล็กโลก (Geomagnetic Storm) โดยผลกระทบของพายุแม่เหล็กเหล่านี้มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง แต่ในโลกที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ของพายุนี้ก็จะสร้างความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม NASA ไม่ได้ออกคำเตือนว่าจะเกิดพายุแม่เหล็กโลก หรือพายุสุริยะที่จะส่งผลต่อเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตของโลกแต่อย่างใด แต่กล่าวถึงระบบ AI ตัวใหม่ที่อาจช่วยรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุสุริยะที่อาจส่งผลต่อโลกได้
สภาวะอวกาศส่งผลต่อโลกอย่างไรบ้าง
สังคมยุคใหม่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และมีเทคโนโลยีหลายชนิดที่อาจได้รับผลกระทบหากมีปรากฏการณ์สภาวะอวกาศที่รุนแรง เช่น กริดไฟฟ้า ท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ระบบนำทางแบบ GPS หรือแม้แต่ระบบสื่อสารทางวิทยุ
หนึ่งในตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดของปรากฏการณ์สภาวะอวกาศคือเหตุการณ์เครือข่ายไฟฟ้า Hydro-Québec ล่ม เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ปี 2989 เนื่องจากกระแสเหนี่ยวนำแม่เหล็กโลก (GICs) เหตุการณ์นี้เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้เกิดไฟดับทั่วไปนานกว่า 9 ชั่วโมง และส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 6 ล้านคน โดยพายุแม่เหล็กโลกที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้เป็นผลมาจาก Coronal Mass Ejection (CME) ที่ปล่อยออกจากดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1989 (ที่มา)
ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ “Internet Apocalypse”
แม้ว่า NASA ยังไม่เคยออกประกาศเตือนถึงเหตุการณ์ Internet Apocalypse หรือสภาวะโลกอินเทอร์เน็ตล่มสลาย Sangeetha Abdu Jyothi ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก University of California ได้ทำการศึกษาผลกระทบของพายุสุริยะที่อาจส่งผลต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตของโลก
โดยงานวิจัย “Solar Superstorms: Planning for an Internet Apocalypse” ซึ่งเป็นการวิจัยโดยใช้ข้อมูลจริง (Real-World Data) ในการวิเคราะห์ ระบุว่า Solar superstorms เป็นพายุสุริยะขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างการระเบิดของรังสีและอนุภาคที่ทรงพลังได้ โดยประมาณการว่าความน่าจะเป็นที่พายุสุริยะอาจทำให้อินเทอร์เน็ตหยุดทำงานครั้งใหญ่คือ 1.6% ถึง 12% ต่อสิบปี พายุเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียม โครงข่ายไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รวมถึงสายเคเบิลใต้ทะเลที่เป็นส่วนสำคัญของระบบอินเทอร์เน็ตได้ การวิจัยพบว่าสายเคเบิลใต้น้ำมีความเสี่ยงที่จะเสียหายมากกว่าสายเคเบิลบนบก และยังพบว่าสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงที่จะขาดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้บทความนี้ยังกล่าวถึงขั้นตอนที่สามารถดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายของอินเทอร์เน็ตที่เกิดจากพายุสุริยะ โดยแนะนำให้ผู้ให้บริการสายเคเบิลใต้น้ำดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันสายเคเบิลไม่ให้เสียหายจากพายุสุริยะ เช่น การติดตั้งระบบป้องกันต่างๆ และแนะนำให้ภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการรับมือพายุสุริยะให้เป็นไปในทางเดียวกัน
แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในเชิงสถิติ แต่ James Ball ผู้เขียน “The System: Who Owns the Internet, and How It Owns Us” หนังสือว่าด้วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ได้ให้ความเห็นว่าเขา ‘ไม่ได้กังวลนัก’
Ball กล่าวว่า “ในทางปฏิบัติ ผมไม่ได้กังวลเท่าไหร่นัก” และเขาคิดว่าภัยคุกคามอินเทอร์เน็ตนั้นน่าจะมาจากบนโลกมากกว่านอกโลก เช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังมีปัญหา แต่ไม่มีใครพร้อมรับมือ (ที่มา)