
โรคมะเร็งจัดได้ว่าเป็นกลุ่มโรคที่ยังหาที่มาและสาเหตุที่แน่ชัดเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งได้ ปัจจัยในการก่อโรคมะเร็งในแต่ละบุคคลนั้นจะแตกต่างกันออกไป และในปัจจุบันก็พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นมะเร็ง ในขณะเดียวกันผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันในสื่อโซเชียลต่างๆ ก็ได้มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับโรคมะเร็งมากมาย ทั้งปัจจัยที่เชื่อว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงภูมิปัญญาต่างๆ ที่อ้างว่าช่วยป้องกันและรักษามะเร็งได้ และ Fact Crescendo พบอีกหนึ่งข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่อาจสร้างความเข้าใจผิดได้
ข้อกล่าวอ้างในโซเชียลมีเดีย
เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งได้โพสต์รูปภาพโรลออนระงับกลิ่นกายยี่ห้อต่างๆ พร้อมระบุในคำบรรยายภาพว่า “โรลออน ยี่ห้อไหน บอกว่ามีสาร อะลูมิเนียมคลอไฮเดรท บ้าง? #เคยมีข่าวว่าสารอะลูมิเนียมคลอไฮเดรท ที่เป็นส่วนประกอบหลักอาจจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม”

โดยโพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ไปกว่า 8,700 ครั้ง และกดถูกใจไปกว่า 6,300 ครั้ง
นอกจากโพสต์ดังกล่าวแล้ว เรายังพบอีกโพสต์หนึ่งบนเฟซบุ๊กที่มีข้อกล่าวอ้างคล้ายคลึงกัน

โดยเพจข้างต้นได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการใช้โรลออนและสเปรย์ระงับกลิ่นกาย โดยพาดหัวว่า “อันตราย! จากสารเคมีในโรลออน/สเปรย์ระงับกลิ่น” และกล่าวอ้างถึงอันตรายของสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายว่า “อะลูมิเนียมคลอไฮเดรท (Aluminum chlorohydrate) ทำหน้าที่อุดรูขุมขนป้องกันไม่ให้เหงื่อไหลออกมาจากผิวหนัง เมื่อเหงื่อไม่สามารถออกทางผิวหนังบริเวณรักแร้ได้ ก็จะเกิดการจับตัวกับเกลืออะลูมิเนียมและเชื้อจุลินทรีย์ที่แทรกตัวอยู่บริเวณผิวหนังใต้รักแร้ จนอุดตันรูขุมขน และเกิดสารตกค้างสะสมบริเวณรักแร้ เกิดการอักเสบ อุดตัน ผิวดำ และเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม” และยังกล่าวว่า “พาราเบน (parabens) เพราะเป็นสารกันเสียที่ราคาถูก ใส่เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา ยีสต์และจุลินทรีย์ แม้จะยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า การใช้โรลออนที่มีการใส่สารพาราเบนเป็นสารกันเสียต่อเนื่องเป็นประจำ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในเซลล์และฮอร์โมนเพศหญิง – เอสโตรเจน จนอาจก่อให้เกิดเป็น ‘มะเร็งเต้านม’ ได้”
เมื่อทีมงาน Fact Crescendo ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ก็พบว่าข้อกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อเราทำการค้นหาข้อมูลดังกล่าวโดยใช้คำสำคัญต่างๆ เช่น “โรลออน” และ “มะเร็งเต้านม” ก็พบบทความจากสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงจากหน่วยงานทางการแพทย์ที่ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้าง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็น “การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม” และทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่การใช้โรลออนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม นั้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนังและรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อะลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การใช้สารระงับการหลั่งเหงื่อเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และใช้เฉพาะจุดซึ่งเหงื่อยังคงถูกขับออกบริเวณอื่นของร่างกายได้จึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย ควรดูสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โรลออน เช่น น้ำหอม สารกันบูด เพื่อสังเกตอาการแพ้หรืออาการระคายเคืองต่าง ๆ บริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ในผู้ที่มีกลิ่นตัวมากควรรักษาสุขอนามัยให้สะอาดและอาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกลิ่นตัวเป็นประจำ
นอกจากนี้ เรายังพบบทความจาก Dr. Teji Dawane สูตินรีแพทย์ที่ปรึกษาอาวุโส และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์จาก Motherhood Hospitals Whitefield, Bengaluru ได้ให้สัมภาษณ์กับ Indian Express ว่า “สารระงับกลิ่นกายหรือน้ำหอมประเภทอื่นๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าสารประกอบอะลูมิเนียมที่ในผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตของเซลล์เต้านมทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์เรื่องนี้”
และจากข้อมูลของ Healthline ทาง American Cancer Society (ACS) และ National Cancer Institute กล่าวว่า ไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงความเสี่ยงมะเร็งเต้านมกับสารระงับกลิ่นกายและสารระงับเหงื่อ และจากการศึกษา (ที่นี่และที่นี่) เกี่ยวกับอะลูมิเนียมและพาราเบนในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ยังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกับมะเร็งเต้านม และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ใต้วงแขนหรือเครื่องสำอางที่มีอะลูมิเนียมจะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
สรุป
ประเด็นที่อ้างว่า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายและระงับเหงื่อ เช่น โรลออนและสเปรย์ระงับกลิ่นกาย มีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมได้นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม

Title:ใช้โรลออนและผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?
Fact Check By: Cielito WangResult: False