มีข้อกล่าวอ้างที่แพร่หลายในโลกออนไลน์ว่า นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล โยชิโนริ โอซูมิ (Yoshinori Ohsumi) ได้แนะนำให้ใช้การอดอาหารเป็นวิธีรักษามะเร็ง ซึ่งมักเชื่อมโยงกับงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับกระบวนการ “ออโตฟาจี” (Autophagy) หรือการรีไซเคิลเซลล์ของร่างกาย ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการอดอาหารเพื่อสุขภาพ และปัญหามะเร็งที่ยังคงเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงได้รับความสนใจอย่างมาก
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายได้แชร์ข้อความที่ระบุว่า “งานวิจัยระดับโนเบลบอกว่าการอดอาหารช่วยทำลายเซลล์มะเร็งและเยียวยาโรคร้ายได้ มาอดอาหารกันเถอะ!” โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ต่อกว่าสองหมื่นครั้งบน Facebook
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
งานวิจัยของอาจารย์โยชิโนริ โอซูมิ
อาจารย์โอซูมิได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี 2016 จากการค้นพบกลไกของออโตฟาจี (Autophagy) ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายในการสลายและรีไซเคิลองค์ประกอบเซลล์ โดยทำการวิจัยโดยใช้ยีสต์ขนมปังเป็นแบบจำลอง ซึ่งพบว่า การจัดการความเครียดของเซลล์ เช่น ภาวะอดอาหาร สามารถกระตุ้นกระบวนการสลายเซลล์ที่เสียหายเพื่อใช้เป็นพลังงานและฟื้นฟูเซลล์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญต่อสุขภาพของเซลล์ (ที่มา: NobelPrize.org)
กระบวนการออโตฟาจีจะถูกกระตุ้นระหว่างการอดอาหาร เนื่องจากการขาดสารอาหาร ทำให้เซลล์ต้องรีไซเคิลองค์ประกอบที่เสียหายเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ความเชื่อมโยงดังกล่าวระหว่างการอดอาหารและกระบวนการออโตฟาจี้จึงเป็นที่มาของข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของการอดอาหารต่อสุขภาพ รวมถึงการรักษามะเร็ง อย่างไรก็ตาม รางวัลโนเบลของอาจารย์โอซูมิไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอดอาหารโดยตรง แต่เป็นการค้นพบกลไกระดับโมเลกุลของออโตฟาจี แม้ว่าการอดอาหารสามารถกระตุ้นออโตฟาจีได้ แต่การวิจัยของของโอซูมิมุ่งเน้นไปที่การศึกษากระบวนการดังกล่าวมากกว่าการเสนอให้เป็นแนวทางการรักษาโรค (ที่มา: Blue Zones, Healthline)
การอดอาหารช่วยในการรักษามะเร็งได้จริงหรือไม่
ความสัมพันธ์ระหว่างการอดอาหาร ออโตฟาจี และมะเร็งยังคงเป็นหัวข้อที่อยู่ระหว่างการศึกษา และยังไม่สามารถสรุปว่าใช้เป็นวิธีรักษาได้ โรคมะเร็งมีความซับซ้อนและเฉพาะตัว ในทางทฤษฎี การอดอาหารอาจช่วยกำจัดเซลล์ก่อนเกิดมะเร็งหรือโปรตีนที่เสียหายก่อนที่จะกลายเป็นเนื้องอก การศึกษาในระดับพรีคลินิกบางระบุว่า การอดอาหารหรือการรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหารอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเคมีบำบัดหรือลดผลข้างเคียง โดยการทำให้เซลล์มะเร็งที่ต้องการสารอาหารมากอยู่ในภาวะเครียด ในขณะที่ปกป้องเซลล์ปกติผ่านกระบวนการออโตฟาจี (ที่มา: Dr. Axe, Cleveland Clinic) อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับพรีคลินิก และการวิจัยเกี่ยวกับการอดอาหารร่วมกับการรักษามะเร็ง เช่น เคมีบำบัด ยังต้องการหลักฐานเพิ่มเติมจากการทดลองในมนุษย์
คำกล่าวที่ว่า “การอดอาหารสามารถช่วยรักษามะเร็งได้” จึงเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไปและยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างสมบูรณ์จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แม้ว่าการอดอาหารอาจมีบทบาทเป็นแนวทางเสริม เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเคมีบำบัด โดยลดระดับของ Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ก็ไม่ใช่การรักษาโดยตรง ผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคนมีสภาวะร่างกายที่แตกต่างกัน และความเสี่ยงจากภาวะขาดสารอาหารอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (ที่มา: EJ-ClinicMed, NCI, MSKCC, Cancer Australia )
บทบาทของออโตฟาจีในมะเร็งยังมีสองด้าน ในแง่หนึ่งกระบสนการนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในระยะเริ่มต้น แต่ในขณะเดียวกัน อาจช่วยให้เซลล์มะเร็งที่มีอยู่แล้วสามารถทนต่อภาวะเครียดได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การขาดสารอาหารหรือเคมีบำบัด ซึ่งอาจทำให้เนื้องอกบางชนิดรอดชีวิตและเติบโตขึ้นได้ ปัจจุบันการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับการอดอาหารในการรักษามะเร็งยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น และไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าสามารถใช้การอดอาหารเป็นวิธีรักษามะเร็งเพียงอย่างเดียวได้ (ที่มา: Cancer Research UK)
ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
ดร.ศิตา วีรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ว่า งานวิจัยของศาสตราจารย์โอซูมิไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอดอาหารในมนุษย์ แต่เป็นการศึกษากระบวนการออโตฟาจี้ (Autophagy) ซึ่งเป็นการที่เซลล์ย่อยสลายส่วนประกอบของตัวเองเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยศึกษาผ่านเซลล์ยีสต์
ออโตฟาจี้เป็นกระบวนการธรรมชาติในเซลล์ที่เกิดขึ้นเมื่อขาดอาหาร โดยเซลล์จะย่อยสลายส่วนประกอบของตัวเองเพื่อนำพลังงานกลับมาใช้ กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด รวมถึงมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การศึกษาในยีสต์ไม่สามารถเทียบได้กับร่างกายมนุษย์ เพราะเซลล์มนุษย์มีความซับซ้อนกว่ามาก และการอดอาหารในคนอาจไม่ได้ผลเหมือนในยีสต์ ที่สำคัญคือ ผลของออโตฟาจี้ต่อร่างกายยังไม่ชัดเจน โดยอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้ว่าการทดลองในหนูจะพบว่าการกระตุ้นออโตฟาจี้ด้วยการตัดต่อพันธุกรรมช่วยให้อายุยืนขึ้น แต่ผลนี้ยังไม่สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการอดอาหารเพื่อกระตุ้นออโตฟาจี้
สรุป
ข้อกล่าวอ้างที่ว่าโยชิโนริ โอซูมิแนะนำให้ใช้การอดอาหารเป็นวิธีรักษามะเร็งนั้นไม่ถูกต้องและชวนให้เข้าใจผิด งานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลของโอซูมินั้น มุ่งเน้นไปที่กลไกของออโตฟาจี ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของเซลล์ที่สามารถถูกกระตุ้นโดยการอดอาหาร แต่ไม่ได้มีการแนะนำให้ใช้การอดอาหารเป็นการรักษามะเร็งโดยตรง บทบาทของออโตฟาจีในมะเร็งมีความซับซ้อน และยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนแนวคิดว่าการอดอาหารสามารถรักษามะเร็งเพียงอย่างเดียวได้

Title:อาจารย์เจ้าของรางวัลโนเบล แนะนำให้ให้การอดอาหารเพื่อรักษามะเร็ง จริงหรือ?
Fact Check By: Cielito WangResult: Missing Context