
เราพบข้อความที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า มีการประกาศเพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของ PPA และระบุชื่อยาแก้หวัดยี่ห้อต่างๆ ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องตลาด โดยข้อความนี้ได้สร้างความกังวลในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาที่ใช้รักษาอาการหวัดและไข้หวัดใหญ่
ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย
เราได้รับเบาะแสจากช่องทาง LINE ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อความที่มีการแชร์ต่อกันอย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์ม LINE ที่ระบุว่า:
“อนุกรรมการควบคุมอันตรายจากการใช้ยา ได้มีมติในรอบแรกว่าให้เพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของพี.พี.เอ. (PPA) เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง” โดยยาที่ถูกกล่าวอ้างว่ามี PPA ได้แก่ ทิฟฟี่ ดีคอลเจน นูต้า นูต้าโคล ฟาโคเจน และโคลัยซาล”
ส่งเบาะแสข้อมูลให้เราช่วยตรวจสอบได้ที่นี่
โดยจากการตรวจสอบเพิ่มเติม เราพบว่าข้อกล่าวอ้างเดียวกันนี้ได้แพร่กระจายบน Facebook ด้วยเช่นเดียวกัน
การตรวจสอบข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง เราพบว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีการแพร่กระจายมาตั้งแต่ปี 2558 โดยสไนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ชี้แจงว่าปัจจุบัน ไม่มียาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) อีกแล้ว เพราะ อย.แจ้งประกาศเพิกถอนทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของ PPA ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2544 และในปัจจุบันผู้ผลิตยาหรือผู้นำเข้ายาได้แก้ไขและปรับสูตรยาในท้องตลาดให้ไร้สาร PPA ทั้งหมดแล้ว (ที่มา)
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลผ่านทาง Line ข้อความ “ประกาศเพิกถอนยา ขณะนี้อนุกรรมการควบคุมอันตรายจากการใช้ยา ได้มีมติในรอบแรกว่าให้เพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีน (PPA) ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในสมองได้ ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้
- ทิฟฟี่
- ดีคอลเจน
- นูต้า
- นูต้าโคล
- ทิพทอพ
- ฟาโคเจน
- โคลัยซาล
- ไดมีเท็ป”
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งว่าข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า โดยในปี พ.ศ. 2543 อย. พบรายงานอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ PPA ว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้ยาเกิดภาวะเลือดออกในสมองได้ ซึ่งเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขให้คืนดีดังเดิมได้ จึงได้สั่งให้ผู้ผลิตยา และผู้นำหรือสั่งยาเข้ามา ในราชอาณาจักรแก้ไขทะเบียนตำรับยาที่มีส่วนผสมของตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีน หรือ เกลือของฟีนิลโปรปาโนลามีน โดยตัดออกจากตำรับยาทุกตำรับ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1140/2543 เรื่อง แก้ไขทะเบียนตำรับซึ่งมียาฟีนิลโปรปาโนลามีน สั่ง ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2543
โดยเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วทะเบียนตำรับยาที่ไม่ได้ตัดตัวยาฟีนิลโปรปาโนลามีนออกจากสูตรตำรับ อย. ได้ดำเนินการ เพิกถอนทะเบียนตำรับแล้ว ซึ่งมีผลยกเลิกทะเบียนตำรับยาตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 สำหรับตัวยาที่มีการจำหน่ายตามท้องตลาดอยู่ในขณะนี้ได้มีการปรับสูตรยาให้เป็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และขอยืนยันว่าไม่มีตำรับยาที่มีส่วนผสมของยาฟีนิลโปรปาโนลามีนอยู่เลยในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ซึ่งรวมไปถึงตัวยาที่มีชื่อเผยแพร่ส่งต่อนั้นด้วย จึงขอให้ผู้บริโภควางใจ และ ขอเตือนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลที่มีการส่งต่อผ่านทาง Social media เพราะเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มาและหลักฐานที่แน่ชัด (ที่มา)
ที่มา: ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย
สรุป
ข้อความที่แพร่กระจายในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการเพิกถอนยาที่มีส่วนผสมของ PPA เป็นข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่า PPA ได้ถูกเพิกถอนออกจากยาทุกตำรับในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2544 จริง แต่ปัจจุบันไม่มียาที่มีส่วนผสมของ PPA จำหน่ายในท้องตลาดอีกต่อไป

Title:ข้อกล่าวอ้างให้หลีกเลี่ยงยาแก้หวัดบางยี่ห้อ เนื่องจากมีตัวยา PPA ชวนให้เข้าใจผิด
Fact Check By: Cielito WangResult: Misleading