ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การผสมผสานเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างชาเขียวก็กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่มีข้อถกเถียงในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับผลกระทบต่อคุณค่าทางโภชนาการในการดื่มชาเขียวใส่นมวัว ว่าจะทำลายคุณประโยชน์ในชาเขียวและทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไม่ได้
โพสต์บนโซเชียลมีเดีย
ในสื่อออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลว่าการดื่มชาเขียวพร้อมกับนมวัวจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากนมไม่ได้ และทำลายคุณค่าของสารต้านอนุมูลอิสระ (catechins) ในชาเขียว
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผลการวิจัยเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระ (Catechins)
งานวิจัยพบว่า ชาเขียวมีสารกลุ่ม catechins ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ ส่วนนมวัวมีโปรตีนหลักคือ เคซีน (casein) ที่อาจไปจับกับสาร polyphenols ในชาได้ โดยการจับตัวกันนี้สามารถเปลี่ยนคุณสมบัติของสารและโปรตีนได้ วารสารงานวิจัยของ EFSA ชี้ให้เห็นว่า catechins ในชาเขียวสามารถจับกับโปรตีนในนม (เคซีน) ซึ่งอาจทำให้สาร catechin ที่อยู่ในรูป “อิสระ” ลดลงได้
นอกจากนี้ งานวิจัยใน Food Research International (2020) ชี้ว่า เมื่อเติมนมลงในชาเขียว ปริมาณ catechins ที่เข้าสู่ระบบและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวมอาจลดลงบ้าง เมื่อมีการจับกับโปรตีน โดยระบุว่า การทำฏิกิริยาระหว่าง catechins กับโปรตีนในนมทำให้ปริมาณ catechins ที่พร้อมดูดซึมได้และการต้านอนุมูลอิสระของ “เครื่องดื่มชานม” ลดลง เมื่อจำลองการย่อยในกระเพาะและลำไส้
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า การเติมนมลงในชาอาจไม่ได้ลดปริมาณ catechins ที่ร่างกายได้ใช้ หรือแม้จะมีผลต่อการจับผิว การย่อยภายในร่างกายอาจแทบไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ งานวิจัยหนึ่งใน Journal of Agricultural and Food Chemistry (2011) พบว่าการเติมนมในชาดำ (และเป็นไปได้ว่าคล้ายกันกับชาเขียว) ทำให้ปริมาณ catechins ทั้งหมดในชาลดลงเมื่อวัดก่อนย่อย แต่ภายหลังผ่านกระบวนการย่อยในลำไส้แล้ว ปริมาณ catechins ที่สามารถดูดซึมได้ (bioaccessibility) ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการดื่มชาแบบปกติกับดื่มชาพร้อมนม กล่าวคือ หลังจากการย่อยสลาย โปรตีนที่จับกับ polyphenols จะถูกย่อยออก ทำให้ catechins ที่เหลือในลำไส้มีปริมาณใกล้เคียงกัน ผลสำคัญคือ “การบริโภคชา (หรือชาใส่นม) ไม่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของความเข้มข้น catechin ในพลาสมาอย่างมีนัยสำคัญ”
และยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยของ Xie et al. ในปี 2013 พบว่า การเติมนมในชาเขียวอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสารสำคัญสองชนิด คือ EGCG (Epigallocatechin gallate) และ ECG (Epicatechin gallate) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหลักในชาเขียว เนื่องจาก ในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร โปรตีนที่จับกับสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะถูกย่อยสลาย ทำให้สารต้านอนุมูลอิสระที่ถูกจับไว้หลุดออกมา และโปรตีนที่ถูกย่อยสลายบางส่วนอาจทำหน้าที่เป็น ตัวช่วยพาสารต้านอนุมูลอิสระผ่านผนังลำไส้ได้ง่ายขึ้น ทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่เข้าสู่กระแสเลือดมีมากขึ้นกว่าการดื่มชาเขียวเพียงอย่างเดียว
สรุปภาพรวมสารต้านอนุมูลอิสระ: ถึงแม้นมจะมีผลกับ catechins บ้าง แต่มีงานสนับสนุนในทั้งสองฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า แม้จะเติมนมในชาเขียว แต่ประโยชน์ต้านอนุมูลอิสระของชาเขียวยังคงอยู่ โดยการเติมนมไม่ทำให้สูญเสียคุณค่าทางสารอาหารทั้งหมด แม้จะมีการจับตัวบ้างในบางกรณี
ผลการวิจัยเกี่ยวกับการดูดซึมแคลเซียม
ชาเขียวมีสารออกซาเลตและแทนนิน (tannins) ซึ่งเป็นสารกลุ่ม polyphenols ที่อาจไปจับกับแคลเซียมในอาหารได้ งานวิจัยวัดปริมาณออกซาเลตในชาเขียวพบว่า โดยเฉลี่ยชาเขียวมีออกซาเลตประมาณ 0.23–1.15 มก./กรัมชา (ในขณะที่ชาดำสูงกว่า 4.68–5.11 มก./กรัม) ผลการทดลองชงชากับน้ำ และวัดออกซาเลตละลายน้ำพบว่า เมื่อผสมชาเข้ากับนม จะเกิดการจับตัวของออกซาเลตกับแคลเซียมในนมจนไม่ถูกดูดซึมเข้าเลือด ตัวอย่างเช่น บทความใน European Journal of Clinical Nutrition (2003) พบว่า เมื่อดื่มชา (ชาดำ) ผสมกับนม ร่างกายดูดซึมออกซาเลตจากชาได้น้อยมาก (แทบไม่เกิน 2% ใน 24 ชั่วโมง) เพราะส่วนใหญ่จับเป็นแคลเซียมออกซาเลตไม่ละลายน้ำ
การศึกษาทดลองในหนู (Chang et al. 1994) พบว่า เมื่อใส่แทนนินจากชาในอาหาร จะทำให้การดูดซึมแคลเซียม (apparent calcium absorption) ลดลงชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรก แต่เมื่อกินติดต่อกันประมาณ 4 สัปดาห์ ร่างกายก็สามารถปรับตัวได้และความแตกต่างในการดูดซึมหายไป กล่าวคือ แม้ตอนต้นอาจมีผลต่อลดการดูดซึมแคลเซียมได้บ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาดูดซึมได้ใกล้เคียงปกติและไม่มีผลต่อระดับแคลเซียมในกระดูก
ผลการศึกษาวิจัยในมนุษย์ พบว่า จากการทดลองให้คนดื่มชาดำ 1.5 ลิตรต่อวันเป็นเวลา 5 วัน พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในปริมาณแคลเซียมที่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อเทียบกับกรณีไม่ดื่มชา ผู้วิจัยสรุปว่า “การดูดซึมแคลเซียมไม่ได้รับผลกระทบจากปริมาณออกซาเลตในชาดำ”อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านอาหารของบางประเทศเตือนว่า หากบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีออกซาเลตสูงมากๆ ร่วมกับอาหารแคลเซียมสูง อาจลดการดูดซึมแคลเซียมได้บ้าง (ที่มา)
นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ยังได้ชี้แจงถึงข้อกล่าวอ้างที่แพร่กระจายว่า การดื่มชาที่ผสมกับนมสดจะทำให้เกิดนิ่วแคลเซียมออกซาเลต (ชนิดนิ่วที่พบได้บ่อยที่สุดในไต) เนื่องจากในชาอาจมีกรดออกซาลิก และในนมมีแคลเซียม ทำให้เกิดสารแคลเซียมออกซาเลตที่ไม่ละลายน้ำ แต่ความจริงแล้ว แม้กรดออกซาลิกในชาและแคลเซียมในนมจะสามารถจับกันเป็น แคลเซียมออกซาเลตที่ไม่ละลายน้ำในลำไส้ แคลเซียมออกซาเลตส่วนใหญ่จะถูกขับออกจากร่างกายเมื่อขับถ่าย จึงไม่ได้สะสมจนเกิดเป็นนิ่วในไต อย่างไรก็ตาม FDA ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หากต้องการเพิ่มแคลเซียม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงพร้อมกับอาหารที่มีออกซาเลตสูงมากๆ (ที่มา)
สรุปภาพรวมแคลเซียม: การดื่มชาเขียวพร้อมนมอาจก่อให้เกิดแคลเซียมออกซาเลตในลำไส้ ซึ่งทำให้แคลเซียมบางส่วนไม่ถูกดูดซึม แต่หลายการศึกษาในมนุษย์ไม่พบผลกระทบชัดเจนต่อระดับแคลเซียมในร่างกาย ส่วนการศึกษาทางสัตว์ชี้ว่าผลจะเกิดชั่วคราวแล้วหายไป โดยภาพรวม ข้อกล่าวอ้างว่า “ดูดซึมแคลเซียมไม่ได้เลย” จึงไม่ถูกต้องในแง่วิทยาศาสตร์ (ที่มา)
ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
Fact Crescendo ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างดังกล่าว โดย ดร.เจษฎา ได้ให้ความเห็นว่า “การดื่มชาเขียวใส่นมนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร แล้วก็เพิ่มโอกาสที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นรวมทั้งรสชาติดีขึ้นด้วย แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าโปรตีนเคซีนในน้ำนม สามารถไปจับกับสารเคเตซินที่อยู่ในชา ทำให้ได้รับประโยชน์น้อยลง และถ้าต้องการแก้ปัญหาในจุดนี้ก็สามารถใช้สารคล้ายนมจากแหล่งอื่น เช่น นมถั่วเหลือง แทนนมวัวหรือนมแพะได้”
บทความจาก Healthline ในหัวข้อ “Does Milk Block Antioxidants in Foods and Beverages? (นมขัดขวางสารต้านอนุมูลอิสระในอาหารและเครื่องดื่มหรือไม่?)” ได้อธิบายว่า แม้ว่างานวิจัยบางชิ้นพบว่านม โดยเฉพาะโปรตีนเคซีน (casein) สามารถจับกับสารต้านอนุมูลอิสระในอาหาร เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ทำให้ประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระลดลงประมาณ 11–27% ในการทดลองบางชิ้น แต่งานวิจัยอื่นๆ กลับพบว่า ไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน หรือบางครั้งอาจมีผลดีด้วยซ้ำ โดยการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในห้องทดลองไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง และได้ข้อสรุปว่า หลักฐานปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกัน เนื่องจาก แม้การเติมนมในอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอาจลดปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระได้บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้สารเหล่านี้หายไปทั้งหมด และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการดื่มนมร่วมกับอาหารเหล่านี้จะลดประโยชน์ต่อสุขภาพจริงๆ จึงแนะนำว่าผู้บริโภคสามารถดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารที่ชื่นชอบพร้อมนมได้โดยไม่ต้องกังวล และการรับประทานอาหารที่หลากหลายซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพโดยรวม
สรุป
โดยสรุปแล้ว การดื่มชาเขียวพร้อมนมวัว ไม่ได้ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไม่ได้เลย หรือทำให้สูญเสียคุณค่าด้านการต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวทั้งหมด เพียงแต่สารบางอย่างในชา (เช่นออกซาเลตและแทนนิน) อาจจับตัวกับแคลเซียมได้บ้าง ซึ่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย เช่นเดียวกับสารต้านอนุมูลอิสระในชา (catechins) แม้ว่านมวัวอาจไปจับกับบางส่วนของสารเหล่านี้ แต่งานวิจัยหลายชุดพบว่า การเติมนมไม่ทำให้สูญเสียประโยชน์ของ catechins ทั้งหมด และไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าตัวแปรนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในทางปฏิบัติ
ดังนั้น การดื่มชาเขียวร่วมกับนมวัวยังสามารถได้รับประโยชน์ทั้งจากสารต้านอนุมูลอิสระในชาและแคลเซียมในนมได้อยู่ เพียงแต่ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย และหลีกเลี่ยงการรวมอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมสูงกับออกซาเลตสูงมากๆ หากต้องการเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมโดยเฉพาะ

Title:จริงหรือไม่: ดื่มชาเขียวพร้อมกับนมวัวทำให้ดูดซึมแคลเซียมไม่ได้และทำลายสารต้านอนุมูลอิสระ?
Fact Check By: Cielito WangResult: Insight