
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี-ซีเรีย ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ และยังเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ โดยล่าสุดมีรายงานยอดผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 15,000 คนแล้ว ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมากและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และเราพบว่ามีคลิปวิดีโอหลายคลิปที่แพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าเป็นภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี-ซีเรียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนี่คือผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก Fact Crescendo
ฟุตเทจบนโซเชียล
เพจเฟซบุ๊ก “ThaiTribune” ได้เผยแพร่คลิปดังกล่าวพร้อมคำบรรยาย:
“ยอดตาย 1.2 หมื่นศพ!! 9 กุมภาพันธ์ 2566 ยอดผู้เสียชีวิต #แผ่นดินไหว มีการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตในตุรกี 8,574 ราย บาดเจ็บเกือบ 50,000 คน และผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในซีเรีย 2,662 ราย บาดเจ็บราว 5,000 คน รวมผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวใน 2 ประเทศ 11,236 ราย ถือว่าเป็น #ภัยพิบัติครั้งใหญ่มากๆ คนเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากเหตุเกิดเวลาตี 4 คนส่วนใหญ่กำลังหลับสนิท เมื่ออาคารถล่มลงมา ทำให้หนีไม่ทัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตุรเคีย และซีเรีย ทำงานกันใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว แม้จะมีทีมกู้ภัยจากนานาประเทศเข้าช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และทันต่อการค้นหาเพื่อช่วยชีวิตผู้คน ขณะที่ยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระลอกๆ
ประธานาธิบดีตุรเคียนายเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นเวลาสามเดือน”
โดยคลิปดังกล่าวเป็นการรวมฟุตเทจจากหลายๆ เหตุการณ์เข้าไปด้วยกัน เมื่อทีมงาน Fact Crescendo ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวก็พบว่าบางฟุตเทจในคลิปนี้นั้นไม่ได้มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เราได้ตรวจสอบคลิปดังกล่าวโดยใช้ฟีเจอร์ Reverse Image Search เพื่อค้นหาที่มาของแต่ละฟุตเทจ
เราพบวิดีโอที่ตรงกับฟุตเทจแรก โดยคลิปนี้ได้ถูกอัปโหลดบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อกตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว

มีคำบรรยายใต้วิดีโอว่า “جده كليو 3طريق مكه القديم” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Jeddah, Kilo 3, Old Makkah Road” และเมื่อเราทำการค้นหาข้อมูลโดยใช้คีย์เวิร์ดดังกล่าวก็พบว่าตำแหน่งที่ตั้งนั้นอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย (ดูแผนที่ได้ที่นี่)

นอกจากนี้ Reuters ก็ได้ยืนยันว่าคลิปตึกดังกล่าวเป็นคลิปการทำลายตึก Jeddah เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ฟุตเทจจากกล้อง CCTV
อีกฟุตเทจหนึ่งที่เราพบว่าไม่ได้มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดคือ คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในครัวแห่งหนึ่งขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อเราตรวจสอบที่มาของวิดีโอก็พบว่าคลิปนี้มาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมือง Izmir ที่ประเทศตุรกีเมื่อปี 2020 ไม่ใช่จากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ (ดูข่าวดังกล่าวได้ที่นี่)

สรุป
จากคลิปรวบรวมฟุตเทจที่อ้างว่ามาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เราพบว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นเท็จบางส่วน เนื่องจากบางฟุตเทจในวิดีโอไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้

Title:ฟุตเทจเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตถูกนำมาแชร์ว่าเป็นภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี-ซีเรียครั้งล่าสุด
Fact Check By: Cielito WangResult: Partly False