เหลืออีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งล่วงหน้าถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก โดยจากรายงาน มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ารวมกว่า 2.1 ล้านราย

ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไป โดยผู้ลงทะเบียนสามารถไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 17.00 น.

Fact Crescendo ได้รวบรวมวิธีการเตรียมตัว รวมถึงข้อควรทราบต่างๆ สำหรับผู้ที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้

รูปแบบบัตรเลือกตั้ง

สีม่วง - เลือก ส.ส. เขต และ สีเขียว - ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

เลือก ส.ส. ในเขตตามที่อยู่ในบัตรประชาชนของตนเอง ไม่ใช่เขตที่ไปใช้สิทธิ

(ภาพจาก: iLaw)

สำหรับการเลือกส.ส. เขต (บัตรเลือกตั้งใบสีม่วง) ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องดูหมายเลข ส.ส. ตามเขตที่ระบุในบัตรประชาชนของตนเอง ไม่ใช่ตามเขตที่ไปเลือกตั้ง (ในกรณีที่ลงทะเบียนเลือกตั้งแบบนอกเขต)

การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนวันและสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 การเลือก ส.ส.เขต ต้องเลือกตามเขตภูมิลำเนาที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง (ตามทะเบียนบ้านของตนเอง)

ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการเลือกทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกัน ต้องระวังเรื่อง “เบอร์” ให้ดี เนื่องจาก ส.ส.เขตจากพรรคเดียวกัน อาจได้หมายเลขคนละเบอร์กับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (เบอร์พรรค) และควรจำเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส. ในเขตของตน ที่ต้องการจะเลือกให้ได้ เนื่องจากบนบัตรจะมีแต่ตัวเลข ไม่มีชื่อของผู้สมัคร ส.ส.เขตกำกับไว้

สามารถดูข้อมูลผู้สมัครส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อได้ที่นี่: ดูรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.

ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ

สามารถตรวจสอบรายละเอียดเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้งได้ที่นี่: ตรวจสอบรายละเอียดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่แอปพลิเคชัน Smart Vote (Android | iOS)

สำหรับผู้เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต: สามารถไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 17.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง พร้อมหลักฐานแสดงตน เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต

สำหรับผู้เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต: สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่เวลา 8.00 น. - 17.00 น. หากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ต้องนำหลักฐานแสดงตน เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต

สำหรับผู้เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร: สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 การลงคะแนนจะใช้วิธีการและขั้นตอนตามที่สถานทูตในแต่ละประเทศกำหนด หรือจัดให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์

หลักฐานแสดงตน ใช้เอกสารอะไรได้บ้าง?

บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ พาสปอร์ต

บัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ จากแอปพลิเคชัน ThaID (D.DOPA) หรือใบอนุญาตขับขี่อิเล็กทรอนิกส์จากแอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงตนได้

  • ดาวน์โหลด ThaID: Android | iOS
  • ดาวน์โหลด DLT QR LICENCE: Android | iOS

7 ขั้นตอนในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

1. ตรวจสอบรายชื่อ: ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ประกาศไว้ด้านหน้าสถานที่เลือกตั้งกลางที่ผู้มีสิทธิลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิ์ทางแอป Smart Vote

2. ยื่นหลักฐานแสดงตน: ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตนให้กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางเพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน พร้อมลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง

3. รับบัตรเลือกตั้งและซองใส่บัตร:

  • รับซองใส่บัตรเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
  • ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท
  • กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมลงรายการเกี่ยวกับจังหวัด เขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส. 5/2)

4. ทำเครื่องหมายกากบาท:

  • เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภท โดยสามารถเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว
  • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

5. พับบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้วใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง: เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบให้เรียบร้อย แล้วใส่ลงในซองใส่บัตรเลือกตั้ง ปิดผนึกให้เรียบร้อยก่อนออกจากคูหาเลือกตั้ง

6. กปน. ลงลายมือชื่อกำกับซองใส่บัตรเลือกตั้ง:

  • มอบซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ปิดผนึกเรียบร้อยให้กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง
  • ผู้ทำหน้าที่ควบคุมหีบบัตรลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองดังกล่าว พร้อมปิดทับรอยต่อผนึกซองด้วยเทปกาวใส
  • เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้กรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางยื่นซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

7. หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง: ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำซองใส่บัตรเลือกตั้งใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

Avatar

Title:ข้อควรรู้ก่อนไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 66 นี้

By: Cielito Wang

Result: Explainer