เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพียง 1 รายชื่อ โดยนายพิธา ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด 324 เสียง ไม่ชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง เท่ากับว่ามติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ส.ว. ที่ไม่มาเข้าร่วมประชุมถึง 33 ราย และ ส.ว. ที่งดออกเสียงอีก 11 ราย

และวันที่ 14 กรกฎาคม นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส. ของพรรคก้าวไกลกว่า 50 คน ยื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ประเด็นการแก้ไขกฎหมาย โดยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว หรือเรียกว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชนหรือ ปิดสวิตช์ ส.ว.

ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘กรรมการข่าว คุยนอกจอ’ โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไข ม. 272 ในตอนนี้ เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจมาก่อน และส่วนตัวไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตาร 272 พร้อมกล่าวว่าในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยยื่นเสนอแก้ไขมาตรา 272 แล้ว แต่ในขณะนั้นพรรคก้าวไกลกลับงดออกเสียง

โดยผู้ใช้ Twitter ต่างได้กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดยทวีตที่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวมีการรับชมไปแล้วกว่าสองแสนครั้ง

(Archive)

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากเว็บไซต์ Theyworkforus ที่พัฒนาโดยทีมงาน iLaw เพื่อใช้ติดตามการทำงานของเหล่าผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงติดตามวาระต่างๆ ในสภา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 พรรคเพื่อไทยได้มีการนำเสนอร่างเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. แก้ไขมาตรา 159 เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ให้เลือกนายกฯ จากบัญชีว่าที่นายกฯ ก็ได้ หรือเลือกจาก ส.ส. จากพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คนก็ได้
  2. ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องช่องทางที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ รัฐมนตรี

โดยในใบบันทึกคะแนนเสียง สมาชิกพรรคก้าวไกลทั้งหมดได้โหวต “เห็นชอบ”

(Archive | ใบประมวลผลการลงมติ)

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้เคยชี้แจงต่อข้อกล่าวอ้างจากผู้ใช้ Twitter ที่ระบุว่า “เพื่อไทยเคยเสนอแก้เรื่อง ส.ว. โหวตนายกไปเมื่อปี 64 แต่ตอนนั้นก้าวไกลเองเลือกที่จะ #งดออกเสียง” ว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. พรรคก้าวไกลโหวตเห็นชอบทั้งหมด 53 เสียง”

(Archive)

มาตรา 272 คืออะไร?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ระบุถึง มาตรา 272 บัญญัติไว้ว่า มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ใน บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง แจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมือง แจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

โดยสรุปได้ว่า มาตรา 272 ได้บัญญัติให้อำนาจ ส.ว.ในช่วง 5 ปีแรก มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ทั้งนี้หากมีการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 272 จะทำให้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี เหลือเพียงขั้นตอนตามมาตรา 159 ซึ่งจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีเหลือเพียงเสียงข้างมากจาก ส.ส.เท่านั้น (ที่มา)

Avatar

Title:ก้าวไกลไม่ได้ ‘งดออกเสียง’ ร่างแก้ไข ม.272 ในอดีต

By: Cielito Wang

Result: Explainer