อีกเพียง 7 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แล้ว ในขณะที่ประชาชนเฝ้าจับตากระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งตั้งข้อกังขาในกระบวนการทำงานของ กกต. หลังพบเหตุการณ์ผิดพลาดต่างๆ (อ่านข่าวที่นี่) นอกจากนี้ เราพบข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สร้างความเข้าใจผิดในวงกว้างแพร่กระจายตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้โซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ต่างแชร์ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า “กกต. ไม่อนุมัติให้มีการถ่ายทอดสดนับคะแนนแบบเรียลไทม์”

Source | Archive

โพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ต่อกว่าสองพันครั้ง โดยผู้ใช้โซเชียลต่างมาแสดงความคิดเห็นประหลากใจและไม่พอใจเป็นจำนวนมาก

โดยข้อความดังกล่าวเผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

ล่าสุดทวีตดังกล่าวมีการรับชมไปแล้วกว่าสองล้านครั้ง

กกต. สั่งห้ามถ่ายทอดสดการนับคะแนนจริงหรือไม่

นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงว่า สามารถถ่ายภาพและวิดีโอบรรยากาศในคูหาเลือกตั้งขณะลงคะแนน (ภายนอกคูหา) และการนับคะแนนที่ใบขีดคะแนนได้ ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนการทำงานของ กปน. รวมถึงสามารถทักท้วงการขีดคะแนน การขานคะแนน และการอ่านคะแนนได้

ที่มา: iLaw

ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า กกต. ห้ามไม่ให้ถ่ายทอดสดการนับคะแนนแบบเรียลไทม์นั้น จึงไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนได้ตั้งข้อสงสัยและแสดงความไม่พอใจในการทำงานของ กกต. หลังจากมีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนเกิดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม ที่ขึ้นอันดับ 1 ในประเทศไทยขณะนี้ (8 พฤษภาคม 2566)

นอกจากนี้ Fact Crescendo ได้ทำการตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมติของ กกต. เกี่ยวกับการนับคะแนน และพบว่าข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวอ้างข้างต้นมากที่สุดคือข่าว กกต. ยกเลิกการใช้แอปนับคะแนนแบบเรียลไทม์ โดย กกต. ได้ระบุว่า “ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 จึงได้จัดให้มีการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการตามมาตรา 120 วรรคสองเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผ่านทางระบบ ECT Report ที่เน้นความถูกต้องและรวดเร็ว”

กกต. ได้ให้เหตุผลในการยกเลิกแอปรายงานผลแบบเรียลไทม์ว่า “การแก้ระเบียบโดยยกเลิกการกำหนดให้มีแอปพลิเคชันเพียงช่องทางเดียวในการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จึงเป็นการแก้ไขข้อจำกัดในการนำเสนอข้อมูลแก่ประชาชนให้มีช่องทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้ปิดช่องทางการจัดให้มีแอปพลิเคชันแต่อย่างใด เพราะในมาตรา 120 ได้รองรับการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการทุกช่องทางไว้ การยกเลิกเรื่องแอปพลิเคชันออกจากระเบียบจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีทางเลือกที่จะรายงาน ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้หลากหลาย”แม้ว่า กกต. จะไม่มีช่องทางให้ประชาชนติดตามการนับคะแนนแบบเรียลไทม์อย่างเป็นทางการ แต่ภาคเอกชนและองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ กว่า 50 องค์กรก็ได้ร่วมมือกันทำระบบรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถติดตามผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง (อ่านข่าวที่นี่)

Avatar

Title:#เลือกตั้ง66 “ห้าม” ถ่ายทอดสดตอนนับคะแนน จริงหรือไม่?

By: Cielito Wang

Result: Explainer