โรคอัลไซเมอร์เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานไว้ว่าเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 600,000 คน และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2573 (ที่มา: Hfocus) และล่าสุด เราพบข้อกล่าวอ้างที่แชร์ผ่านไลน์ที่ระบุว่า การบริหารลิ้น หรือการแลบลิ้นบ่อยๆ จะช่วยชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้

ข้อกล่าวอ้างบนโซเชียลมีเดีย

นอกจากข้อความดังกล่าวจะมีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในแอปพลิเคชัน LINE แล้ว เราพบว่าข้อความเดียวกันก็แพร่กระจายบน Facebook เช่นเดียวกัน

ที่มา | ลิงก์ถาวร

ที่มา | ลิงก์ถาวร

โดยข้อความนี้มีการเผยแพร่บน Facebook เมื่อหลายปีก่อน และยังคงมีการแชร์ซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน เราจึงดำเนินการตรวจสอบข้อความดังกล่าว

รู้จักโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ (ที่มา: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์)

ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เนื่องจากข้อความที่แชร์ดังกล่าวได้กล่าวถึงบุคคลชื่อ “ดร. วิชัย เกียรติสามิภักดิ์” ในลักษณะที่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เผยแพร่บทความนี้ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบทความ ทางทีมงานจึงได้ตรวจสอบหาชื่อของบุคคลดังกล่าวในทะเบียนแพทยสภา แต่ก็ไม่พบรายชื่อของบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด (ลิงก์ถาวร) และก็ไม่พบบทความอื่นๆ จากบุคคลรายนี้

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

จากบทความของ Forbes ในหัวข้อ “หรือลิ้นจะเป็นกุญแจสู่การค้นพบครั้งใหม่ด้านประสาทวิทยา” เว็บไซต์ทางการแพทย์บางแห่งเชื่อว่ามีวิธีกระตุ้นสมองสำหรับการฝึกระบบประสาทและการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการบาดเจ็บที่บาดแผลหรือโรคโดยใช้ลิ้น อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงเพิ่มเติมว่ารายงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบว่าลิ้นสามารถเป็นประตูสู่สมองได้หรือไม่ โดดยหวังว่าจะบรรเทาโรคที่มาจากการบาดเจ็บของสมองได้ แต่ก็ไม่มีรายงานใดที่กล่าวถึงว่าการบริหารลิ้นสามารถลดอาการอัลไซเมอร์ได้

นอกจากนี้ นายแพทย์มัยธัช สามเสน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ได้อธิบายกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย ในประเด็นดังกล่าวว่า การแลบลิ้นจำนวน 10 ครั้ง 20 ครั้งต่อวัน สามารถป้องกันโรคต่างๆ ได้หลายๆโรค น่าจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากคนเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คน อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นอันตรายในการปฏิบัติตาม สามารถทำได้ เนื่องจากการขยับหรือการเคลื่อนไหวทุกชนิดมีประโยชน์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในส่วนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวบ่อยๆ ซ้ำๆ รวมถึงการทำสิ่งแปลกใหม่ ทุกอย่างมีประโยชน์ที่จะช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่แม้ว่าการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การขยับอวัยวะต่างๆ จะมีส่วนชะลอความเสื่อมของสมองได้ แต่ก็ไม่ได้ป้องกันโรคดังกล่าวได้ 100%

และนายแพทย์มัยธัชยังได้เพิ่มเติมว่า “การเคลื่อนไหวร่างกายในทุกๆอวัยวะที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้มีการกระตุ้นการทำงานของสมองให้เชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อกัน ในลักษณะของเครือข่ายของเซลล์ของสมองได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการรับรส การดมกลิ่น การสัมผัส รวมถึงการใช้สมองในการคิด การแก้ปริศนา การคำนวณ การใช้เหตุผล ใช้ความคิด การออกกำลังสมองเพื่อช่วยชะลอการเป็นโรคด้านสมองจึงมีหลายรูปแบบหลายวิธี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแลบลิ้นอย่างเดียว”

ดร.นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มา: รายการ Fake or Fact, ThaiPBS) ชี้แจงถึงข้อความดังกล่าวว่า “ไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หรือการศึกษาที่แยกกลุ่มระหว่างคนไข้คนที่ทำการออกกำลังกายลิ้น เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกาย ว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์หรือเปล่า ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในทางทางวิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ จากข้อมูลในปัจจุบัน การแลบลิ้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลไกการเกิดอัลไซเมอร์ ส่วนในวิธีการลดความเสี่ยง อาจจะเน้นเรื่องในการออกกำลังกาย เช่น แอโรบิค และเนื่องจากว่าในโรคอัลไซเมอร์มักจะเกิดกับคนไข้ที่สูงอายุ เพราะฉะนั้นคนไข้ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องเข่าหรือการเดิน อย่างน้อยก็ควรลุกขึ้นมายืนแกว่งแขนบ้าง”

สรุป

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าการแลบลิ้นหรือการบริหารลิ้นสามารถลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ได้ วิธีการที่ควรทำเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์คือการรักษาสุขภาพสมองโดยรวม ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การกระตุ้นการรับรู้ของสมอง และการมีส่วนร่วมทางสังคม มีแนวโน้มที่จะช่วยพัฒนาสมองได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม

ติดตามช่องทางอื่นๆ ของเรา เพื่อไม่ให้พลาดทุกข้อเท็จจริง

Facebook | Twitter | Instagram | LINE | TikTok

Avatar

Title:“แลบลิ้น” ช่วยป้องการโรคอัลไซเมอร์ได้จริงหรือไม่

Written By: Cielito Wang

Result: Insight